ข้ามไปเนื้อหา

ซูสีไทเฮา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระพันปีฉือสี่)
ซูสีไทเฮา(ฮกเกี้ยน)
ฉือสี่ไท่โฮ่ว (มาตรฐาน)
สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งต้าชิง
ไท่หวงไท่โฮ่ว
(太皇太后)
สมเด็จพระบรมราชอัยยิกาเจ้า
ระยะเวลาค.ศ. 1908
ก่อนหน้าจาวเซิ่งไท่หวงไท่โฮ่ว (昭圣太皇太后)
ถัดไป– (ยุบจักรวรรดิ)
หวงไท่โฮ่ว
(圣母皇太后)
สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
ระยะเวลา22 สิงหาคม ค.ศ. 1861 – 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908
(47 ปี 85 วัน)
ก่อนหน้าฉืออันไท่โฮ่ว (慈安皇太后)
ถัดไปหลงยฺวี่ไทเฮา (隆裕太后)
พระราชสมภพรัชศกเต้ากวัง (道光) ปีที่ 15 เดือน 10 วันที่ 10 ตรงกับ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835(1835-11-29)
เป่ย์จิง (北京), จักรวรรดิชิง
เย่เฮ่อน่าลา ซิ่งเจิน (葉赫那拉 杏貞)
สวรรคตรัชศกกวังซฺวี่ (光緒) ปีที่ 34 เดือน 10 วันที่ 22 ตรงกับ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908(1908-11-15) (72 ปี)
ตำหนักอี๋-ลฺหวัน (仪鸾殿), พระที่นั่งจงหนานไห่ (中南海), เป่ย์จิง, จักรวรรดิชิง
คู่อภิเษกจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸豐帝)
พระราชบุตรจักรพรรดิถงจื้อ (同治帝)
พระสมัญญานาม
สั้น: เซี่ยวชินเสี่ยนหฺวังโฮ่ว (孝欽顯皇后)
ยาว: เซี่ยวชินเสี่ยน ฉือสี่ ตวนโย่ว คังอี๋ เจาอวี้ จวังเฉิง โช่วกง ชินเสี่ยน ฉงซี เพ่ย์เทียน ซิ่งเชิ่ง เสี่ยน หฺวังโฮ่ว (孝欽慈禧端佑康頤昭豫莊誠壽恭欽獻崇熙配天興聖顯皇后)
ราชวงศ์โดยกำเนิด: เย่เฮ่อน่าลา (葉赫那拉)
โดยสมรส: อ้ายซินเจว๋หลัว (愛新覺羅)
พระราชบิดาฮุ่ยเจิง (惠徵)
พระราชมารดานางฟู่ฉา (富察氏)

ซูสีไทเฮา ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน หรือ ฉือสี่ไท่โฮ่ว ตามภาษาจีนมาตรฐาน (จีน: 慈禧太后; พินอิน: Cíxǐ Tàihòu; 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 – 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908) เป็นสตรีชาวแมนจูช่วงราชวงศ์ชิง (清朝) ของจักรวรรดิจีน จากสกุลเย่เฮ่อน่าลา (葉赫那拉氏) แห่งกองธงเหลืองมีขอบ (鑲黃旗) ในแปดกองธง (八旗) ได้เป็นกุ้ยเฟย ในจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸豐帝) และได้เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือ หวงไท่โฮ่ว (皇太后) และสมเด็จพระบรมราชอัยยิกาเจ้า หรือ ไท่หวงไท่โฮ่ว (太皇太后) ในฐานะพระมารดาของจักรพรรดิถงจื้อ (同治帝) และพระมารดาบุญธรรมของจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光緒帝) ทั้งได้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิทั้งสอง จึงปกครองประเทศโดยพฤตินัยเป็นเวลา 47 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1861 จนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1908

ในวัยเยาว์ พระนางได้รับเลือกเป็นพระชายาของจักรพรรดิเสียนเฟิง และให้กำเนิดพระโอรส คือ ไจ้ฉุน (載淳) ใน ค.ศ. 1856 ต่อมาใน ค.ศ. 1861 จักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคต ไจ้ฉุนซึ่งยังเล็กได้เสวยราชย์เป็นจักรพรรดิถงจื้อ พระนางยึดอำนาจรัฐจากองคมนตรี แล้วขึ้นสำเร็จราชการแทนจักรพรรดิพระองค์น้อยพร้อมด้วยซูอันไทเฮา (慈禧太后) พระอัครมเหสีของจักรพรรดิเสียนเฟิง ครั้นจักรพรรดิถงจื้อสวรรคตใน ค.ศ. 1875 พระนางก็ยกไจ้เถียน (載湉) หลานของพระนางเอง ขึ้นสืบราชสมบัติต่อเป็นจักรพรรดิกวังซฺวี่ โดยมีพระนางสำเร็จราชการแทนต่อไป ซึ่งขัดต่อกฎการสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์

แม้พระนางจะไม่ยอมรับรูปแบบการปกครองแบบตะวันตก แต่พระนางก็สนับสนุนการปฏิรูปทางทหารและทางวิทยาการ รวมถึงขบวนการสร้างตนให้แกร่ง (自強運動) พระนางยังเห็นชอบกับหลักการปฏิรูปร้อยวัน (百日維新) เมื่อ ค.ศ. 1898 แต่ก็เกรงว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยปราศจากความสนับสนุนของข้าราชการนั้นจะนำมาซึ่งความโกลาหล ทั้งจะเป็นโอกาสให้มหาอำนาจญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ เข้าแทรกแซง เมื่อจักรพรรดิกวังซฺวี่สนับสนุนนักปฏิรูปหัวรุนแรง และพระนางเชื่อว่า จักรพรรดิพยายามจะลอบสังหารพระนาง พระนางจึงจับจักรพรรดิไปขังไว้ ณ ตำหนักหาน-ยฺเหวียน (涵元殿) บนเกาะอิ๋งไถ (瀛台) กลางสระน้ำในพระที่นั่งจงหนานไห่ (中南海) และให้ประหารนักปฏิรูปหัวรุนแรง ภายหลัง กบฏนักมวย (庚子拳亂) เป็นชนวนให้มหาอำนาจต่างชาติในนาม "พันธมิตรแปดชาติ" (八國聯軍) เข้ารุกรานประเทศ พระนางสนับสนุนให้กบฏนักมวยออกเข่นฆ่าต่างชาติ และประกาศสงครามกับผู้รุกราน แต่เมื่อพ่ายแพ้ พระนางจึงหันมาเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และเริ่มนโยบายที่เรียก "การปกครองแบบใหม่" (新政) เพื่อนำประเทศไปสู่ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ทว่า ใน ค.ศ. 1908 พระนางสวรรคตก่อนการปฏิรูปจะเป็นผล ราชสำนักตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มอนุรักษนิยม โดยมีผู่อี๋ (溥儀) จักรพรรดิเด็ก อยู่บนบัลลังก์ ทั้งประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองไม่หยุดหย่อน นำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ชิงเมื่อประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. 1912

ชื่อเสียงของพระนางเป็นประเด็นถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศจีนมาเสมอ มุมมองที่มีมายาวนานเห็นว่า พระนางเป็นผู้ปกครองที่อำมหิต บ้าอำนาจ ทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลาย แต่มุมมองสมัยใหม่เห็นว่า การที่พระนางถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ราชวงศ์ชิงสูญสิ้นนั้นเป็นผลงานของฝ่ายปฏิรูปและฝ่ายปฏิวัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระนาง เป็นการกล่าวโทษพระนางในปัญหาที่เรื้อรั้งมายาวนานก่อนยุคสมัยของพระนาง ซึ่งไม่อยู่ในความควบคุมของพระนาง พระนางยังปกป้องประเทศจากความวุ่นวายทางการเมือง และมิได้โหดร้ายทารุณมากไปกว่าผู้ปกครองคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาของพระนาง นอกจากนี้ พระนางยังเป็นนักปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพสำหรับการปฏิรูปที่ทรงริเริ่มในช่วงบั้นปลายพระชนม์[1]

ครอบครัว

[แก้]
โดยสายเลือด
โดยสมรส

ฐานันดรศักดิ์

[แก้]
ฐานันดรศักดิ์ ตั้งแต่ หมายเหตุ
ปฏิทินจีน ปฏิทินเกรกอเรียน
รัชศกเต้ากวัง (道光; ค.ศ. 1820–1850)
นางเย่เฮ่อน่าลา (葉赫那拉氏) รัชศกเต้ากวัง ปีที่ 15 เดือน 10 วันที่ 10 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 "เย่เฮ่อน่าลา" เป็นชื่อสกุล ส่วนชื่อตัวสันนิษฐานว่า คือ "ซิ่งเจิน" (杏貞) บันทึกวังเรียกขานว่า "นางเย่เฮ่อน่าลา ธิดาฮุ่ยเจิง ถนนไท่กวัง บึงฮุยหนิง อานฮุย" (叶赫那拉氏安徽徽宁池太广道惠徵女)
รัชศกเสียนเฟิง (咸豐; ค.ศ. 1850–1861)
หลานกุ้ยเหริน (蘭貴人) รัชศกเสียนเฟิง ปีที่ 2 เดือน 5 วันที่ 9 26 มิถุนายน ค.ศ. 1852 เข้าวังเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1851 ได้รับเรียกขานว่า "ซิ่ว-นฺหวี่" (秀女; "หญิงงาม") ครั้นได้ร่วมเตียงกับจักรพรรดิเสียนเฟิงแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมเอก ยศ "กุ้ยเหริน" (貴人) และได้รับนามพระราชทานว่า "หลาน" (蘭) จึงเรียก "หลานกุ้ยเหริน"
อี้ผิน (懿嬪) รัชศกเสียนเฟิง ปีที่ 2 เดือน 5 วันที่ 9 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1854 ได้เลื่อนเป็นพระภรรยาเจ้า พระอิสริยยศที่ "ผิน" (嬪) และได้รับนามพระราชทานว่า "อี้" (懿) จึงเรียก "อี้ผิน"
อี้เฟย์ (懿妃) รัชศกเสียนเฟิง ปีที่ 6 เดือน 3 วันที่ 23 27 เมษายน ค.ศ. 1856 วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1856 ประสูติไจ้ฉุน (載淳) พระโอรสของจักรพรรดิเสียนเฟิง จึงได้เลื่อนเป็นพระภรรยาเจ้า ทันที พระราชอิสริยยศที่ "เฟย์" (妃) ใช้นามพระราชทานตามเดิม จึงเรียก "อี้เฟย์"
อี้กุ้ยเฟย์ (懿貴妃) รัชศกเสียนเฟิง ปีที่ 7 เดือนอ้าย มกราคม/กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1856 ได้เลื่อนเป็นพระภรรยาเจ้า พระราชอิสริยยศที่ "กุ้ยเฟย์" (貴妃) ใช้นามพระราชทานตามเดิม จึงเรียก "อี้กุ้ยเฟย์"
รัชศกถงจื้อ (同治; ค.ศ. 1861–1875)
ซูสีฮองไทเฮา (ฮกเกี้ยน)/ฉือสี่หฺวังไท่โฮ่ว (มาตรฐาน) (慈禧皇太后) รัชศกเสียนเฟิง ปีที่ 11 เดือน 7 วันที่ 17 22 สิงหาคม ค.ศ. 1861 ในฐานะพระราชมารดาของจักรพรรดิ ได้รับการเฉลิมพระราชอิสริยยศที่พระชนนีพันปีหลวง คือ "ฮองไทเฮา/หวงไท่โฮ่ว" (皇太后) และทรงพระนามาภิไธยว่า "ซูสี/ฉือสี่" (慈禧; "การุญเปี่ยมสุข") จึงเรียก "ซูสีฮองไทเฮา/ฉือสี่หวงไท่โฮ่ว" เรียกโดยย่อว่า "ซูสีไทเฮา/ฉือสี่ไท่โฮ่ว" (慈禧太后) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 1861 นั้นเอง ยังได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยถึงเจ็ดครั้ง ครั้งละสองอักษร เมื่อสิ้นรัชกาลถงจื้อ จึงมีพระนามาภิไธยถึง 16 อักษร แต่ในฐานะฮองไทเฮา พระนางมีสิทธิได้รับการเฉลิมพระนามอีกเก้าครั้ง รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20 อักษร ครั้นสวรรคต พระนางจึงมีพระนามาภิไธยที่ยาวเหยียดว่า "ต้าชิงกั๋ว ตังจิน ฉือสี่ ตวันโย่ว คังอี๋ เจาอวี้ จวังเฉิง โช่วกง ชินเสี่ยน ฉงซี เชิ่งหมู่หวงไท่โฮ่ว" (大清國當今慈禧端佑康頤昭豫莊誠壽恭欽獻崇熙聖母皇太后) ย่อว่า "ต้าชิงกั๋ว ตังจิน เชิ่งหมู่หวงไท่โฮ่ว" (大清國當今聖母皇太后)
รัชศกกวังซฺวี่ (宣統; ค.ศ. 1875–1908)
ซูสีไทฮองไทเฮา (ฮกเกี้ยน)/ฉือสี่ไท่หวงไท่โฮ่ว (มาตรฐาน) (慈禧太皇太后) รัชศกกวังซฺวี่ ปีที่ 34 เดือน 10 วันที่ 21 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 ได้รับการเฉลิมพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า คือ "ไทฮองไทเฮา/ไท่หฺวังไท่โฮ่ว" (太皇太后) ทรงใช้พระนามาภิไธยตามเดิม จึงเรียก "ซูสีไทฮองไทเฮา/ฉือสี่ไท่หฺวังไท่โฮ่ว" ทั้งนี้ เพียงหนึ่งวันก่อนสวรรคต
รัชศกเซฺวียนถ่ง (宣統; ค.ศ. 1908–1912)
เซี่ยวชินเสี่ยนหฺวังโฮ่ว (孝欽顯皇后) รัชศกเซฺวียนถ่ง ปีที่ 1 เดือน 10 วันที่ 4 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1909 ได้รับการถวายพระสมัญญานามภายหลังสวรรคตว่า "เซี่ยวชิน ฉือสี่ ตฺวันโย่ว คังอี๋ เจาอวี้ จวังเฉิง โช่วกง ชินเสี่ยน ฉงซี เพ่ย์เทียน ซิ่งเชิ่ง เสี่ยน หฺวังไท่โฮ่ว" (孝欽慈禧端佑康頤昭豫莊誠壽恭欽獻崇熙配天興聖顯皇太后)

ต้นพระชนม์

[แก้]

พระนางเกิดในรัชศกเต้ากวัง ปีที่ 15 เดือน 10 วันที่ 10 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 ตามปฏิทินเกรกอเรียน

ระเบียนวังหลวงระบุว่า ในปีที่พระนางเกิด ฮุ่ยเจิง บิดาของพระนาง ปฏิบัติราชการอยู่ในเป่ย์จิง เมืองหลวงของราชวงศ์ชิง จึงหมายความว่า พระนางเกิดในเป่ย์จิง นอกจากนี้ เอกสารบางฉบับระบุว่า บ้านในวัยเด็กของพระนางอยู่ที่ "หูท่งผี่ไฉ (ตรอกซุง), ซี่ไผโหลวซี (ซุ้มประตูที่ 4 ฝั่งตะวันตก)" (西四牌樓劈柴胡同) ในเป่ย์จิง[2]

ใน ค.ศ. 1851 พระนางและสตรีอื่นอีก 60 คนเข้าร่วมการคัดเลือกเข้าเป็นพระชายาของจักรพรรดิเสียนเฟิง พระนางเป็นหนึ่งในหญิงไม่กี่คนที่ได้รับเลือก จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระภรรยาที่พระสนมเอก ฐานันดรศักดิ์ "หลานกุ้ยเหริน" (蘭貴人) ส่วนหญิงคนอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกในคราวเดียวกัน ได้แก่

ใน ค.ศ. 1854 พระนางได้รับเลื่อนขึ้นขั้น 5 ฐานันดรศักดิ์ "อี้ผิน" (懿嬪) ครั้น ค.ศ. 1855 พระนางทรงพระครรภ์ และในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1856 ประสูติพระโอรส คือ ไจ้ฉุน จากนั้น พระนางได้รับเลื่อนขึ้นขั้น 4 มีฐานันดรศักดิ์ว่า "อี้เฟย์" (懿妃)[3] ใน ค.ศ. 1857 ไจ้ฉุนพระชันษาครบ 1 ปี พระนางซึ่งเป็นพระมารดาของไจ้ฉุนได้รับเลื่อนขึ้นขั้น 3 ฐานันดรศักดิ์ว่า "อี้กุ้ยเฟย์" (懿貴妃) มีศักดิ์เป็นรองเพียงนางหนิ่วฮู่ลู่

ข้อที่ทำให้พระนางซูสีแตกต่างจากหญิงทั่วไปในราชสำนัก คือ พระนางอ่านออกเขียนได้ ความสามารถนี้ทำให้พระนางได้รับโอกาสมากมายในการช่วยเหลือราชกิจรายวันของจักรพรรดิเสียนเฟิงที่พระพลานามัยย่ำแย่ ปรากฏหลายครั้งว่า จักรพรรดิทรงให้พระนางอ่านฎีกาถวาย ทั้งให้วินิจฉัยฎีกาตามพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้พระนางได้รับประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน[4]

การสวรรคตของจักรพรรดิเสียนเฟิง

[แก้]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1860 ช่วงที่สงครามฝิ่นครั้งที่สองใกล้ยุตินั้น แฮร์รี สมิท พากส์ (Harry Smith Parkes) ราชทูตบริเตน และคนอื่น ๆ ถูกกองทัพราชวงศ์ชิงจับกุมไปทรมานและประหารชีวิต กองทัพบริเตนกับฝรั่งเศสที่มีเจมส์ บรูซ (James Bruce) เป็นผู้บัญชาการ จึงตอบโต้ด้วยการถล่มนครหลวงเป่ย์จิง ครั้นเดือนถัดมา กองทัพต่างชาติเผาพระที่นั่งยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน (圓明園) จนราบ ส่วนจักรพรรดิเสียนเฟิงและคณะซึ่งมีพระนางรวมอยู่ด้วยนั้นลี้ภัยจากปักกิ่งไปเร่อเหอ (熱河) ก่อนแล้ว[5] เมื่อทรงทราบว่า พระที่นั่งถูกเผา จักรพรรดิเสียนเฟิงซึ่งประสบภาวะสมองเสื่อม (dementia) อยู่แล้วก็โทมนัส หันไปพึ่งพาสุรายาเมาจนประชวรหนัก[6] พระองค์ให้หาขุนนางผู้ใหญ่แปดคนมาเฝ้า ทรงตั้งให้เป็นองคมนตรี เรียกว่า "กู้มิ่งปาต้าเฉิน" (顧命八大臣; "แปดขุนนางผู้ใหญ่รับสนองพระราชโองการ") มีหัวหน้า คือ ซู่ชุ่น (肅順), ไจ่-ยฺเหวียน (載垣), และตฺวันหฺวา (端華) ครั้นแล้ว ก็เสด็จสวรรคต ณ เรือนภูเขาพักร้อน (避暑山莊) ในเร่อเหอเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1861

เมื่อจักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชโอรสไจ้ฉุน พระชนม์ 4 ชันษา ก็ได้สืบราชสมบัติต่อเป็นจักรพรรดิถงจื้อ เชื่อกันว่าก่อนเสด็จสวรรคต จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงเรียก พระนาง กับพระนางหนิ่วฮู่ลู่ มาเข้าเฝ้าข้างพระที่ แล้วประทานตราให้ ด้วยมุ่งหวังให้ช่วยกันประคับประคองจักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งยังทรงพระเยาว์นัก บ้างก็ว่า ที่ทรงทำเช่นนั้นเพื่อให้พระมเหสีทั้งสองเข้ามาคานอำนาจผู้สำเร็จราชการทั้งแปด แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน[7]

เมื่อจักรพรรดิถงจื้อขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระนาง ในฐานะพระมารดา ก็ได้เลื่อนเป็นฮองไทเฮา ฐานันดรศักดิ์ว่า "ซูสีฮองไทเฮา" มักย่อว่า "ซูสีไทเฮา" นอกจากนี้ ยังมักเรียกว่า "ไซไทเฮา" (ฮกเกี้ยน) หรือ "ซีไท่โฮ่ว" (มาตรฐาน) (西太后; "ไท่โฮ่วประจิม") เพราะประทับตำหนักฉู่ซิ่ว (儲秀宮) ซึ่งอยู่ทางตะวันตก เวลานั้น พระนางอายุ 27 ปี ส่วนนางหนิ่วฮู่ลู่ อายุ 25 ปี ในฐานะพระอัครมเหสีของพระบิดา ก็ได้เป็นฮองไทเฮาเช่นกัน ฐานันดรศักดิ์ "ซูอันฮองไทเฮา" มักย่อว่า "ซูอันไทเฮา" นอกจากนี้ ยังมีกเรียกว่า "ตังไทเฮา" (ฮกเกี้ยน) หรือ "ตงไท่โฮ่ว" (มาตรฐาน) (東太后; "ไท่โฮ่วบูรพา") เพราะประทับตำหนักจงชุ่ย (鍾粹宮)ซึ่งอยู่ทางตะวันออก

รัฐประหารซินโหย่ว

[แก้]

ในเวลาที่จักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จสวรรคตนั้น พระนางซูสีก็เจนจัดในการเมืองมากแล้ว ขณะรอฤกษ์เคลื่อนพระศพจากเร่อเหอกลับปักกิ่ง พระนางก็วางแผนยึดอำนาจการปกครองกับข้าราชการและพระญาติพระราชวงศ์จำนวนหนึ่ง พระนาง ในฐานะพระมารดาของจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ย่อมไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ พระโอรสที่ขึ้นเสวยราชย์ก็ยังเยาว์นัก ไม่มีอำนาจโดยพระองค์เอง เพื่อให้การลุล่วง พระนางจึงจำต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้ทรงอำนาจคนอื่น ๆ เช่น พระนางซูอัน ซึ่งสนิทสนมกันมาตั้งแต่แรกเข้าวังแล้ว[8]

คณะองคมนตรีเองก็ไม่ชอบใจที่พระนางซูสีเป็นสตรีแต่เข้ามามีบทบาททางการเมือง ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายอยู่เนือง ๆ การเผชิญหน้ากันบ่อยครั้งทำให้พระนางซูอันไม่สบายพระทัย และมักไม่เข้าร่วมประชุมขุนนาง ทำให้พระนางซูสีต้องรับมือกับองคมนตรีทั้งแปดแต่ผู้เดียว ระหว่างเตรียมดำเนินการตามแผนนั้น พระนางซูสีก็รวบรวมการสนับสนุนจากข้าราชการทหารพลเรือนที่มากความสามารถ รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่ระหองระแหงกับเหล่าองคมนตรีด้วยไม่ว่าด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลการทางการเมืองก็ตาม ในจำนวนนี้มีองค์ชายอี้ซิน (奕訢) พระอนุชาพระองค์ที่หกของจักรพรรดิเสียนเฟิงซึ่งต้องการเป็นใหญ่แต่ถูกกีดกันจากอำนาจ และองค์ชายอี้เซฺวียน (奕譞) พระอนุชาพระองค์ที่เจ็ดของจักรพรรดิเสียนเฟิง ในเวลานั้น มีฎีกาฉบับหนึ่งมาจากชานตง (山東) เสนอให้พระนางออก "ว่าราชการหลังม่าน" (垂簾聽政) และให้องค์ชายอี้ซินเข้าสู่วงการเมืองในฐานะผู้ช่วยเหลือองค์จักรพรรดิ

เมื่อขบวนพระบรมศพออกเดินทางจากเร่อเหอ พระนางซูสีและจักรพรรดิพระองค์ใหม่ต้องเดินทางกลับไปก่อนเพื่อไปเตรียมรับพระศพ ส่วนคณะองคมนตรีต้องตามอารักขาขบวนพระบรมศพไป การที่ได้กลับปักกิ่งก่อน หมายความว่า พระนางมีเวลาเตรียมจัดการกับคณะองคมนตรีมากขึ้น เมื่อขบวนพระบรมศพเข้าถึงเป่ย์จิง ก็มีประกาศให้ถอดคณะองคมนตรีออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาว่า เจรจากับต่างชาติไม่สำเร็จ ทำให้จักรพรรดิเสียนเฟิงต้องจำพระทัยลี้ภัยจากปักกิ่งไปยังเร่อเหอ นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาอื่น ๆ[8]

พระนางซูสีให้นำองคมนตรีสามคนจากทั้งหมดแปดคนไปประหารชีวิต คือ ซู่ชุ่น, ไจ่-ยฺเหวียน, และตฺวันหฺวา องค์ชายอี้ซินเสนอให้ประหารด้วยวิธีหลิงฉือ (凌遲) คือ เชือดเป็นพัน ๆ ชิ้น แต่พระนางให้ตัดศีรษะซู่ชุ่น ส่วนไจ่-ยฺเหวียน กับตฺวันหฺวา ให้มอบผ้าขาวไปผูกคอตาย นอกจากนี้ พระนางยังห้ามประหารวงศ์ตระกูลขององคมนตรีทั้งสามตามประเพณี

การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นที่รู้จักด้วยชื่อ "รัฐประหารซินโหย่ว" (辛酉政變) เพราะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1861 ซึ่งปฏิทินจีนเรียกว่า ปีซินโหย่ว

การว่าราชการหลังม่าน

[แก้]

ศักราชใหม่

[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1861 ไม่กี่วันหลังรัฐประหารซินโหย่ว พระนางซูสีประทานบำเหน็จให้แก่องค์ชายอี้ซิน โดยตั้งเขาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ และให้ธิดาคนโตของเขาเป็นองค์หญิงกู้หลุน (固倫公主) ซึ่งปรกติแล้วจะตั้งจากพระธิดาองค์โตของจักรพรรดิ แต่พระนางก็มิได้ให้องค์ชายอี้ซินมีอำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมือง

ในการว่าราชการหลังม่านนั้น พระนางซูสีจะประทับร่วมกับพระนางซูอันอยู่หลังม่าน โดยมีจักรพรรดิประทับอยู่หน้าม่าน แต่พระนางทั้งสองจะตัดสินใจแทนจักรพรรดิ พระนางซูสีออกพระราชโองการสองฉบับในพระนามาภิไธย ฉบับแรกว่า ให้พระนางทั้งสองมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด ห้ามผู้ใดก้าวก่าย ฉบับที่สองว่า ให้เปลี่ยนรัชศกของจักรพรรดิ จาก "ฉีเสียง" (祺祥) เป็น "ถงจื้อ" (同治)

แม้จะมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แต่พระนางซูสีและพระนางซูอันจำต้องอาศัยความเห็นของสภาจฺวินจฺวีชู่ (軍機處) และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนมากมาย เช่น เมื่อมีฎีกาเข้ามา ฎีกาจะส่งให้พระนางทั้งสองอ่านก่อน และจะส่งต่อไปยังองค์ชายอี้ซินและจฺวินจฺวีชู่ให้ทำความเห็น เมื่อได้ความเห็นแล้วจะทูลให้พระนางทั้งสองทราบเพื่อมีคำวินิจฉัย จากนั้น จะร่างพระราชโองการตามนั้น เมื่อพระนางทั้งสองเห็นชอบกับพระราชโองการแล้ว จึงประกาศใช้ได้ หน้าที่สำคัญสุดของพระนางทั้งสองในการสำเร็จราชการแทนจักรพรรดินั้น คือ การประทับพระราชลัญจกรลงพระราชโองการ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นแต่ขั้นตอนทางพิธีการในระบบราชการอันซับซ้อน[9]

การปรับปรุงระบบขุนนาง

[แก้]

พระนางซูสีเข้าสู่อำนาจในยามที่บ้านเมืองวุ่นวายจากภายใน ขุนนางทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นเน่าเฟะเพราะฉ้อราษฎร์บังหลวง ผลของสงครามฝิ่นครั้งที่สองยังกระทบอยู่ไม่คลาย ส่วนกบฏเมืองแมนแดนสันติ (太平天國) ก็ลุกลามอยู่ทางใต้ กลืนกินแผ่นดินทีละนิดทีละน้อย ทั้งความท้าทายจากต่างชาติยังเข้ามาผสมโรงให้สถานการณ์ย่ำแย่ ใน ค.ศ. 1861 นั้น พระนางซูสีประชุมขุนนางผู้ใหญ่แล้วรับสั่งให้เอาขุนนางสำคัญสองคนไปประหารเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู คือ Qingying จากฝ่ายทหารที่พยายามติดสินบนเพื่อให้พ้นจากการถูกลดขั้น และเหอ กุ้ยชิง (何桂清) ผู้เป็นเหลี่ยงเจียงจ่งตู (兩江總督; "ผู้ว่าสองเจียง") ซึ่งเมื่อเกิดกบฏเมืองแมนฯ แล้ว กลับหนีเอาตัวรอดไปยังฉางโจว (常州) แทนที่จะอยู่ปกป้องเมือง

นอกจากนี้ พระนางซูสียังมอบตำแหน่งสำคัญที่สุดทางทหารให้แก่ขุนนางชาวฮั่น คือ เจิง กั๋วฟาน (曾國藩) เพื่อทำทัพไปปราบกบฏเมืองแมนฯ ซึ่งขัดกับประเพณีแต่เดิมที่ตำแหน่งสำคัญจะให้แก่ชาวแมนจูเท่านั้น ภายในสามปีถัดมา พระนางยังแต่งตั้งขุนนางชาวฮั่นหลายคนไปปกครองทางใต้ เจิง กั๋วฟาน นำกองทัพที่เรียกว่า "เซียงจฺวิน" (湘軍) ไปปราบกบฏเมืองแมนฯ สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1864 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอีเติ่งอี้หย่งโหฺว (一等毅勇侯; "อี้หย่งโหฺวขั้นหนึ่ง") ส่วนขุนนางชาวฮั่นคนอื่น ๆ ที่ร่วมปราบกบฏก็ปูนบำเหน็จทั่วหน้า เมื่อสิ้นกบฏเมืองแมนฯ แล้ว พระนางซูสีก็เพ่งความสนใจไปที่องค์ชายอี้ซินแทน องค์ชายอี้ซินได้สร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนอยู่ในราชสำนัก ซึ่งมีขุนนางสำคัญมากมายในกองทัพรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ องค์ชายอี้ซินยังเป็นประธานจฺวินจีชู่ ซึ่งควบคุมนโยบายเกี่ยวกับกิจการในประเทศ และจ๋งหลี่หยาเหมิน (總理衙門) ซึ่งควบคุมนโยบายเกี่ยวกับการต่างประเทศ ทำให้องค์ชายสามารถควบคุมราชการรายวัน และมีอำนาจมากขึ้นทุกวัน พระนางซูสีจึงเห็นว่า องค์ชายผู้นี้เป็นอีกภัยคุกคามต่ออำนาจของพระนาง

พระนางซูสีสบโอกาสเมื่อ Cai Shouqi ขุนนางอาลักษณ์ชั้นผู้น้อย ถวายฎีกากล่าวหาว่า องค์ชายอี้ซินฉ้อฉลและไม่เคารพพระมหากษัตริย์ องค์ชายอี้ซินไม่สนใจข้อกล่าวหานัก เพราะเห็นว่า มีผู้สนับสนุนมากมายในราชสำนัก แต่ผิดคาด เพราะในเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 พระนางซูสีให้ถอดองค์ชายอี้ซินออกจากตำแหน่งราชการทั้งปวง แต่ยังให้ดำรงสถานะในราชวงศ์ต่อไปได้ ด้วยข้อกล่าวหาหลายประการ เช่น ประพฤติในเหมาะสมต่อหน้าพระนางซูสีและพระนางซูอัน[10] การถอดองค์ชายอี้ซินทำให้ราชสำนักแตกตื่น มีผู้ถวายฎีกาหลายฉบับถวายเข้ามาให้คืนตำแหน่ง ในจำนวนนี้รวมถึงอี้เซฺวียน และอี้ฉง (奕誴) น้องชายขององค์ชายอี้ซิน ส่วนอี้ซินเองก็ร่ำไห้ต่อหน้าพระนางทั้งสอง[11] เมื่อแรงกดดันหนักขึ้น พระนางซูสีก็ยอมให้องค์ชายอี้ซินกลับมาเป็นประธานจงหลี่หยาเมินได้ แต่นับจากนั้นองค์ชายอี้ซินก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักอีกต่อไป

อิทธิพลจากต่างชาติ

[แก้]
หลี่ หงจาง [15 กุมภาพันธ์ 1793— 7 พฤศจิกายน 1901]
จั่วจงถัง (10 พฤศจิกายน 1792—5 กันยายน 1855), วาดในปี 1895

พระนางซูสีเถลิงอำนาจในยามที่ยุทธนาการของจีนล้วนพ้นสมัย และที่สำคัญ จีนไม่คบค้าสมาคมกับมหาอำนาจทางตะวันตก เป็นเหตุให้ขาดการติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการอันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ กับทั้งโดยที่ทรงเล็งเห็นว่า ไม่มีทางที่เศรษฐกิจอันมีการกสิกรรมเป็นหลักของจีนจะไปสู้เศรษฐกิจอันมีอุตสาหกรรมเป็นหลักของชาติตะวันตกได้ พระนางซูสีจึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ริเริ่มเรียนรู้และรับเอาวิทยาการตะวันตก นโยบายในการบริหารประเทศเช่นนี้มีขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] โดยได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชการชาวฮั่นคนสำคัญอันได้แก่ เจิงกั๋วฝัน, หลี่ หงจาง (จีน: 李鴻章; พินอิน: Lǐ Hóngzhāng) และ จั่วจงถัง (จีน: 左宗棠; พินอิน: Zuǒ Zōngtáng) ไปร่างและควบคุมโครงการด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ของประเทศ

เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ในปี 1863 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองคฺ์ทั้งสองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งวิทยาลัยถงเหวินกว่าน (จีน: 同文館; พินอิน: Tóng Wén Guǎn; "วิทยาลัยสหวิทยาการ") ขึ้นในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ภาษาตะวันตก และต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงการเรียนรู้วิทยาการและนวัตกรรมต่างประเทศด้วย[12]

วิทยาลัยถงเหวินกว่านเปิดสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย และภาษาญี่ปุ่น กับทั้งเคมี แพทยศาสตร์ กลศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และกฎหมายนานาชาติ โดยรัฐบาลว่าจ้างผู้ชำนัญพิเศษชาวต่างชาติเป็นอาจารย์[13] กระนั้น ถงเหวินกว่านไม่ใช่วิทยาลัยแรกที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศในจีน เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเอ๋อหลัวซีกว่าน (จีน: 俄羅斯館; พินอิน: É Luó Sī Guǎn; "วิทยาลัยรัสเซีย") ขึ้นเมื่อปี 1708 เพื่อสอนวิชาการแปลและการเป็นล่ามภาษาเอเชียทั้งหลาย ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้วิทยาลัยถงเหวินกว่างรับวิทยาลัยเอ๋อโหล๋วสีกว่านเข้าสมทบ [14] ปัจจุบัน วิทยาลัยถงเหวินกว่างสังกัดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

อนึ่ง ในครั้งนั้นยังได้มีการจัดส่งชายหนุ่มจำนวนหนึ่งไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลจีนดังกล่าวดำเนินไปได้ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากด้านการทหารนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ แต่พระนางซูสีกลับทรงแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อเรือรบเจ็ดลำจากสหราชอาณาจักร อันเรือรบนั้นเมื่อมาเทียบท่าจีนก็ได้บรรทุกกะลาสีชาวอังกฤษซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษมาด้วยเต็มลำ ชาวจีนเห็นว่าการที่สหราชอาณาจักรทำดังกล่าวเป็นการยั่วโมโห เพราะเรือเป็นของจีนซึ่งถือตนว่าเป็นศูนย์กลางของโลก มีฐานะและเกียรติยศสูงส่ง แต่กลับเอาต่างชาติซึ่งจีนเห็นว่าเป็นอนารยชนทุกชาติไปนั้นมาใส่ จีนจึงให้สหราชอาณาจักรเอาเรือกลับคืนไปทุกลำ เรือนั้นเมื่อกลับไปแล้วก็นำไปประมูลต่อไป และการกระทำของรัฐบาลจีนครั้งนี้ก็เป็นที่ขบขันของชาติตะวันตกอยู่ระยะหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนด้านวิชาการนั้นก็ประสบอุปสรรค เนื่องจากพระราชอัธยาศัยและวิธีการคิดเก่า ๆ แบบอนุรักษนิยมของพระนางซูสีที่ทรงพระกังวลเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระองค์ว่าจะถูกลิดรอนไป[ต้องการอ้างอิง]

ในการก่อสร้างทางรถไฟหลวงนั้น พระนางซูสีไม่พระราชทานพระราชานุมัติ โดยทรงอ้างว่าเสียงอันดังของรถไฟอาจไปรบกวนบรรดาบูรพกษัตริย์ที่บรรทมอยู่ในสุสานหลวง กระทั่งปี 1877 ได้ทรงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรถไฟในจักรวรรดิตามคำกราบบังคมทูลของหลี่ หงจาง จึงพระราชทานพระราชานุมัติให้จัดสร้างได้ แต่ต้องเป็นรถไฟแบบม้าลาก[15]

พระนางซูสียังทรงหวั่นเกรงแนวคิดเสรีนิยมของผู้ที่ไปเล่าเรียนต่างประเทศกลับมา เนื่องจากทรงเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่จะคุกคามพระราชอำนาจของพระองค์ ดังนั้น ในปี 1881 จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เลิกจัดส่งเด็กหนุ่มไปเล่าเรียนยังต่างประเทศ และพระราชอัธยาศัยเปิดกว้างที่ทรงมีต่อต่างชาติก็ค่อย ๆ ตีบแคบลงนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]

การบรรลุนิติภาวะของพระเจ้าถงจื้อ

[แก้]

สำหรับด้านการอภิบาลพระเจ้าถงจื้อนั้น ซูสีไทเฮาทรงเข้มงวดกวดขันฮ่องเต้ในทุก ๆ ด้านอย่างยิ่ง โดยด้านการศึกษา ทรงเลือกสรรและแต่งตั้งราชครูสำหรับฮ่องเต้ด้วยพระองค์เอง ราชครูทูลเกล้าฯ ถวายการสอนวิชาวรรณกรรมคลาสสิก และให้ทรงศึกษาคัมภีร์โบราณ ซึ่งฮ่องเต้ไม่ทรงสนพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย ซูสีไทเฮาจึงทรงเข้มงวดกับพระราชโอรสกว่าเดิมเพื่อให้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาเพื่อฮ่องเต้เอง

ราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēng Tónghé) บันทึกไว้ว่า ฮ่องเต้ไม่ทรงสามารถอ่านหนังสือได้จบประโยคแม้จะมีพระชนมพรรษาสิบหกพรรษาแล้วก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] ทำให้ซูสีไทเฮาทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับความหย่อนพระปรีชาสามารถของฮ่องเต้อย่างยิ่ง

การอภิเษกสมรส

[แก้]
ถงจื้อ [27 เมษายน 1856—12 มกราคม 1875]

ในปี 1872 เมื่อพระเจ้าถงจื้อมีพระชนมพรรษาได้ 17 พรรษา พระพันปีทั้งสองพระองค์ต่างมีพระราชประสงค์จะให้ได้ทรงอภิเสกสมรสกับสตรีที่ตนคัดสรรเอาไว้แล้ว

ด้านซูอันไทเฮานั้น ทรงหมายพระเนตรสตรีแมนจูผู้มากคุณสมบัตินางหนึ่งจากสกุล “อาหลู่เท่อ” (阿魯特) นางอาหลู่เท่อนั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการศึกษาสูง บิดาเป็นข้าราชการระดับสูงและมากความสามารถหลายด้านชื่อว่า ”ฉงฉี่” (崇綺) นางได้รับการอบร่มบ่มเพาะมาอย่างดี มีความสามารถมากเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ประวัติศาสตร์บันทึกว่านางมีความสามารถโดดเด่นทางด้านการประพันธ์ วรรณกรรม การดนตรี และศิลปะ และยังบันทึกอีกว่านางสามารถอ่านหนังสือสิบบรรทัดได้ในหนึ่งกะพริบตาเท่านั้น ด้านซูสีไทเฮานั้น มีพระราชดำริจะให้ฮ่องเต้ได้อภิเสกสมรสกับข้าหลวงในพระองค์นางหนึ่งจากสกุล “ฝูฉา” (富察) ทำให้พระพันปีทั้งสองทรงผิดพระราชหฤทัยกัน ซูสีไทเฮาซึ่งมีพระราชดำริว่าซูอันไทเฮาเป็นสตรีโง่เขลาแต่เมื่อนานมาแล้วก็ไม่พอพระราชหฤทัยซูอันไทเฮายิ่งขึ้น ด้านซูอันไทเฮานั้นก็ได้ตรัสบริภาษซูสีไทเฮาว่าควรมีจริยธรรมในการปกครองครอบครัวมากกว่านี้ เพราะสตรีที่ซูสีไทเฮาทรงคัดเลือกไว้นั้นมีชาติตระกูลและคุณสมบัติต่ำกว่าสตรีที่ซูอันไทเฮาทรงเลือกไว้อย่างเห็นได้ชัด

ความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าถงจื้อมีพระราชวินิจฉัยเลือกนางอาหลู่เท่อเป็นพระอัครมเหสี โดยโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 1872 และมีพระบรมราชโองการให้สถาปนานางอาหลู่เท่อขึ้นเป็นพระอัครมเหสี มีพระนามาภิไธยว่า เจียชุ่น (嘉順) ส่วนสตรีที่ซูสีไทเฮาทรงเลือกสรรไว้นั้น โปรดรับเอาไว้เป็นพระชายา

เดือนพฤศจิกายน 1873 พระเจ้าถงจื้อมีพระชนมพรรษาครบสิบแปดพรรษา ซึ่งถือว่าทรงบรรลุนิติภาวะและทรงสามารถบริหารพระราชภาระได้โดยพระองค์เองแล้ว อันหมายความว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองก็จะพ้นจากตำแหน่งโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว ซูสีไทเฮายังทรงกำกับการบริหารราชการแผ่นดินอยู่เช่นเคย เนื่องจากฮ่องเต้ทรงแต่พระสำราญกับนางใน หาได้เอาใจใส่กิจการบ้านเมืองอย่างเต็มที่ไม่

ซูสีไทเฮาพระราชทานพระราโชวาทแก่พระเจ้าถงจื้อและพระนางเจียชุ่นว่าทั้งสองพระองค์ยังทรงอ่อนพระชนมพรรษาเกินไป สมควรกลับไปทรงศึกษาวิธีการบริหารบ้านเมืองให้บังเกิดประสิทธิผลให้ทรงเข้าพระทัยอย่างถ่องแท้เสียก่อน สมควรแล้วที่ซูสีไทเฮาจะได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยกำกับราชการ ซูสีไทเฮายังได้ทรงส่งขันทีในพระองค์ปลอมปนเข้าไปสอดแนมความเคลื่อนไหวของฝ่ายฮ่องเต้อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ทรงทราบว่า ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงนำพาพระราโชวาทดังกล่าว ก็มีพระราชเสาวนีย์เป็นเด็ดขาดให้ฮ่องเต้เอาใจใส่พระราชภาระให้มากขึ้น ซึ่งฮ่องเต้ก็ได้แต่ทรงตกปากรับคำ

การบริหารราชการของพระเจ้าถงจื้อ

[แก้]

ระหว่างที่ฮ่องเต้ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองในปี 1873— 1875 ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการปฏิสังขรณ์พระราชวิสุทธอุทยาน (圓明園) ที่ถูกกองผสมนานาชาติเผาทำลายไปในสงครามฝิ่น โดยทรงปรารภว่าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่พระพันปีทั้งสองพระองค์ ทั้งนี้ พระราชวิสุทธอุทยานตั้งอยู่ตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง และได้รับการขนานนามจากนานาชาติว่าเป็น "ยอดอุทยาน"[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า ความจริงแล้วฮ่องเต้มีพระราชประสงค์จะให้ซูสีไทเฮาเสด็จแปรพระราชฐานไปให้ไกลจากพระราชวังหลวง เพื่อที่จะได้ทรงบริหารพระราชภาระได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดคอยควบคุมอีกต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

อนึ่ง ในระยะดังกล่าว พระคลังมหาสมบัติร่อยหรอลงไปจนเหลือเพียงน้อยนิดเนื่องเพราะใช้จ่ายไปการสงครามกับต่างชาติและการปราบปรามอั้งยี่ซ่องโจรภายใน ฮ่องเต้จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะกรรมการบริหารพระคลังมหาสมบัติกระทำการใด ๆ ให้ได้มาสู่พระคลังซึ่งเงินและทรัพย์สิน กับทั้งรับสั่งให้พระบรมวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง และผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวงช่วยกันบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่พระคลัง ในการนี้ ยังได้ทรงติดตามและตรวจสอบผลการดังกล่าวด้วยพระองค์เองด้วย

อย่างไรก็ดี ฮ่องเต้ไม่มีพระราชขันติเพียงพอต่อความคับข้องพระราชหฤทัยในอันที่ถูกพระราชชนนีบริภาษและบังคับเคี่ยวเข็ญ กับทั้งมีพระราชดำริว่าพระองค์ทรงโดดเดี่ยวเปลี่ยวพระราชหฤทัยเกินไป จึงทรงระบายพระราชอารมณ์บ่อย ๆ ด้วยการทรงโบยขันทีอย่างรุนแรงด้วยพระองค์เองสำหรับความผิดเล็กน้อย อันเป็นผลจากพระโทสะที่ร้ายกาจขึ้นเพราะความบกพร่องลงของพระขันติดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือและชักชวนของบรรดาขันทีและองค์ชายไจ้เชิง พระโอรสพระองค์แรกขององค์ชายกง และพระสหายคนสนิทของพระเจ้าถงจื้อ จึงทรงสามารถเสด็จออกไปทรงพระสำราญพระราชหฤทัยนอกพระราชวังได้บ่อยครั้ง โดยทรงพระภูษาเช่นสามัญชนแล้วลอบเสด็จฯออกจากพระราชวังในยามเย็นเพื่อไปประทับอยู่ ณ หอคณิกาตลอดคืน[ต้องการอ้างอิง]

เนื่องเพราะ "ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิดก็ไม่มิด" พฤติกรรมทางเพศดังกล่าวของฮ่องเต้จึงเป็นที่โจษจันตลอดทั้งชาววังถึงชาวบ้านร้านตลาด และยังได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์จีนหลายฉบับด้วย[ต้องการอ้างอิง] ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม 1874 บรรดาพระบรมวงศ์ตลอดจนข้าราชการและพนักงานของรัฐชั้นผู้ใหญ่ที่ต่างระอาในฮ่องเต้ จึงพากันเข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำเพื่อให้ทรงนำพาราชการไปให้ตลอดรอดฝั่ง และขอพระราชทานให้ทรงงดการปฏิสังขรณ์พระราชวิสุทธอุทยานเสีย ซึ่งฮ่องเต้ไม่ทรงสบพระราชอารมณ์อย่างยิ่ง มีพระบรมราชโองการให้ปลดองค์ชายกงซึ่งทรงร่วมเข้าพระนามด้วย ออกเสียจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ กลายเป็นสามัญชน ไม่กี่วันถัดจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้ปลด องค์ชายตุน (จีน: ; พินอิน: Dūn) , ฉุนจิ้นอ๋อง, องค์ชายอี้จวน (พินอิน: Yizuan) , องค์ชายอี้ฮุย (พินอิน: Yihui) , องค์ชายชิง (พินอิน: Qing) ตลอดจนข้าราชการและรัฐบุรุษคนอื่น ๆ ที่เข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาดังกล่าว เช่น นายพลเจิงกั๋วฝัน, หลี่ หงจาง , เหวินเสียง (จีน: 文祥; พินอิน: Wén Xiáng) ฯลฯ ออกจากจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งสิ้น

ซูสีไทเฮาและซูอันไทเฮาทรงทราบความโกลาหลในพระราชสำนักแล้ว ก็เสด็จออก ณ ท้องพระโรงด้วยกันขณะที่จักรพรรดิถงจื้อทรงออกขุนนาง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] ทั้งสองพระองค์ตรัสบริภาษฮ่องเต้ พร้อมมีพระราโชวาทแนะนำให้ทรงยกเลิกพระบรมราชโองการปลดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเหล่านั้นเสีย เป็นเหตุให้ฮ่องเต้ทรงเสียพระราชหฤทัยนักที่ไม่อาจทรงบริหารพระราชอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และทรงระบายพระราชอารมณ์ด้วยการเสด็จประทับโรงหญิงนครโสเภณีเช่นเดิมอีก

การสวรรคตของพระเจ้าถงจื้อ

[แก้]
พระอัครมเหสีเจียชุ่น[1854—1875]

หลังจากนั้นเป็นที่ร่ำลือทั่วกันว่า ฮ่องเต้ประชวรพระโรคซิฟิลิส ซึ่งโบราณเรียก “โรคสำหรับบุรุษ” เกิดจากการสัมผัสหรือร่วมประเวณีกับผู้ป่วยโรคนี้ ซูสีไทเฮาจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คณะแพทย์หลวงเข้าตรวจพระอาการ พบว่าฮ่องเต้ประชวรพระโรคซิฟิลิสจริง[ต้องการอ้างอิง] เมื่อทรงทราบแล้วซูสีไทเฮาทรงเตือนให้คณะแพทย์เก็บงำความข้อนี้เอาไว้ เพราะเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นความอื้อฉาวน่าอดสูขนานใหญ่ คณะแพทย์จึงจัดทำรายงานเท็จเกี่ยวกับพระอาการแทน โดยรายงานว่าฮ่องเต้ประชวรไข้ทรพิษ และถวายการรักษาตามพระอาการไข้ทรพิษ อันไข้ทรพิษนั้นมีลักษณะและอาการแต่ผิวเผินคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิส และชาวจีนยังนิยมว่าผู้ป่วยเป็นเป็นไข้ทรพิษถือว่ามีโชค[ต้องการอ้างอิง]

อย่างไรก็ดี เมื่อฮ่องเต้ประชวรนั้น ซูสีไทเฮาได้ทรงประกาศในพระนามฮ่องเต้ว่า ฮ่องเต้ประชวรไข้ทรพิษ ถือเป็นมงคลแก่บ้านเมือง[ต้องการอ้างอิง] และในระหว่างการรักษาพระองค์นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ซูสีไทเฮาและซูอันไทเฮาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ซึ่งนับได้ว่าซูสีไทเฮากลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง

โดยที่คณะแพทย์ถวายการรักษาพระอาการไข้ทรพิษเพื่อตบตาผู้คน แต่ความจริงแล้วทรงเป็นซิฟิลิส พระเจ้าถงจื้อจึงเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 มกราคม 1875

เมื่อพระเจ้าถงจื้อเสด็จสวรรคตแล้ว ซูสีไทเฮาทรงพระพิโรธว่าเป็นความผิดของพระอัครมเหสีเจียชุ่น และมีพระราชเสาวนีย์ให้ตัดข้าวตัดน้ำพระอัครมเหสีนับแต่นั้น พระอัครมเหสีจึงลอบส่งลายพระหัตถ์ไปถึงพระราชบิดาขอให้ช่วย ซึ่งพระราชบิดาทรงตอบกลับมาด้วยความจนปัญญาว่า "ทรงพระปรีชาอยู่แล้ว" (皇后圣明) พระอัครมเหสีจึงทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ซึ่งซูสีไทเฮาได้มีรับสั่งให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพถวายอย่างสมพระเกียรติ และให้ประกาศว่าพระอัครมเหสีทรงกระทำเช่นนั้นด้วยความ "รักและคิดถึง" พระราชภัสดาอย่างยิ่งยวด

การเป็นผู้สำเร็จราชการอีกหน

[แก้]

การเผชิญหน้ากับโลกใหม่

[แก้]
จักรพรรดิกวังซฺวี่

ด้วยถงจื้อมิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ และในการเฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการสืบราชสันตติวงศ์ก็ไม่อาจหาพระราชวงศ์ในลำดับชั้นสูงกว่าฮ่องเต้คือที่ประสูติก่อนฮ่องเต้ได้ จึงจำต้องคัดเลือกจากผู้มีประสูติกาลในรุ่นเดียวกับหรือรุ่นหลังจากรุ่นดังกล่าว ซูสีไทเฮาจึงทรงเห็นชอบให้องค์ชายไจ้เทียน พระโอรสในฉุนจิ้นอ๋อง (จีน: 醇賢親王; พินอิน: Chún Xián Qīn Wáng) กับพระขนิษฐภคินีของซูสีไทเฮา พระชนม์สี่พรรษา เสวยราชย์เป็นรัชกาลถัดมา โดยให้เริ่มปีที่ 1 แห่งรัชศก "กวังซฺวี่" อันมีความหมายว่า "รัชกาลอันรุ่งเรือง" ในปี 1875 เมื่อซูสีไทเฮามีพระราชเสาวนีย์ดังนั้น องค์ชายไจ้เทียนก็ทรงถูกนำพระองค์ไปจากพระราชฐานทันทีและนับแต่นี้ไปจนตลอดพระชนม์ก็ทรงถูกตัดขาดจากครอบครัวโดยสิ้นเชิง ทรงได้รับการศึกษาจากราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēngtónghé) เมื่อมีพระชนม์ได้ห้าพรรษา

วันที่ 8 เมษายน 1881 ระหว่างทรงออกขุนนางตอนเช้า ซูอันไทเฮาทรงรู้สึกไม่สบายพระองค์จึงนิวัตพระราชฐาน และสวรรคตในบ่ายวันนั้น การสวรรคตโดยปัจจุบันทันด่วนของซูอันไทเฮาสร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชนทั่วไป เพราะพระสุขภาพพลานามัยของพระพันปีอยู่ในขั้นดียิ่งยวดเสมอมา ครั้งนั้น เกิดข่าวลือแพร่สะพรัดทั่วไปในจีนว่าเป็นซูสีไทเฮาที่ทรงวางพระโอสถพิษแก่ซูอันไทเฮา ว่ากันว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะกรณีประหารขันทีอันเต๋อไห่ หรือเพราะซูอันไทเฮาทรงถือพระราชโองการจากฮ่องเต้ในพระโกศให้มีพระราชอำนาจสั่งประหารซูสีไทเฮาได้หากว่าพระนางทรงก้าวก่ายการบ้านการเมืองหรือมีพระราชวิสัยไม่เหมาะสมอย่างไร[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ดี ข่าวลือดังกล่าวยังไร้หลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง และนักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับอย่างเต็มร้อยในเรื่องการวางพระโอสถพิษดังกล่าว แต่สันนิษฐานกันว่าซูอันไทเฮาประชวรพระโรคลมปัจจุบันโดยอ้างอิงบันทึกทางการแพทย์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยนั้น[ต้องการอ้างอิง] การทิวงคตของซูอันไทเฮาส่งผลให้ซูสีไทเฮาทรงเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียวอย่างเต็มพระองค์

เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่า ในขณะที่ทหารเรือจีนพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่น 1897 อย่างราบคาบและสูญเสียอาวุธยุโธปกรณ์สมัยใหม่ไปมากในครั้งนี้ ซูสีไทเฮาแทนที่จะทรงอนุมัติงบประมาณไปปรับปรุงกองทัพ กลับนำไปปฏิสังขรณ์พระราชวังฤดูร้อนส่วนพระองค์ ซึ่งความจริงแล้ว เงินงบประมาณดังกล่าวตั้งไว้สำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์และข้าราชการต่าง ๆ เป็นบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เพื่อนำเงินไปปรับปรุงกองทัพ ซูสีไทเฮาจึงมีพระราชเสาวนีย์โปรดให้ยกเลิกงานแซยิดของพระองค์อันกำหนดให้จัดขึ้นในปีถัดมา ยังให้บุคคลหลายฝ่ายไม่พอใจเพราะมิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ส่วนเงินที่นำไปปรับปรุงพระราชวังซูสีไทเฮานั้นได้แก่เงินสิบล้านตำลึงซึ่งฮ่องเต้พระราชทานแก่ซูสีไทเฮาในวันแซยิดของซูสีไทเฮาเมื่อ 1895 นอกจากนี้ ในครั้งนั้น องค์ชายจุน พระชนกของฮ่องเต้ ซึ่งทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือจีนแทนองค์ชายกงที่ทรงถูกปลดไปเป็นองคมนตรีเหตุเพราะไม่อาจทรงนำชัยในสงครามจีน-ฝรั่งเศสมาได้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายงบประมาณของกองทัพเรือไปสมทบทุนการปฏิสังขรณ์พระราชวังเอง เพราะทรงต้องการช่วยให้พระโอรสมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการอย่างเต็มที่ โดยให้ซูสีไทเฮาแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังฤดูร้อน จะได้ไม่ต้องอยู่ใกล้กับราชการแผ่นดินอีก ซึ่งซูสีไทเฮาก็มิได้ทรงปฏิเสธการปฏิสงขรณ์พระราชวังถวายแต่อย่างใด

การเสวยราชย์ของจักรพรรดิกวังซฺวี่

[แก้]

1887 หลังจากที่จักรพรรดิกวังซฺวี่มีพระชนมพรรษาได้สิบหกพรรษา เป็นการทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยลำพัง ซูสีไทเฮาจึงมีประกาศพระราชเสาวนีย์ให้จัดพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ อย่างไรก็ดี ด้วยความเกรงพระทัยและพระราชอำนาจของซูสีไทเฮา บรรดาข้าราชการ นำโดยองค์ชายฉุน (จีน: 醇賢親王; พินอิน: Chún Xián Qīn Wáng) และราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēngtónghé) ซึ่งต่างคนต่างก็มีความมุ่งประสงค์ต่างกันไป ได้พากันคัดค้านและเสนอให้เลื่อนเวลาเสวยพระราชอำนาจตามลำพังของฮ่องเต้ออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่ายังทรงพระเยาว์นัก ซูสีไทเฮาก็ทรงสนองคำเสนอดังกล่าว และมีประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยฮ่องเต้ยังทรงพระเยาว์นัก พระพันปีจึงทรงจำต้องอภิบาลราชการแผ่นดินทั้งปวงต่อไปอีก

อย่างไรก็ดี ซูสีไทเฮาก็จำต้องทรงคลายพระหัตถ์ออกจากพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อฮ่องเต้มีพระชนมพรรษาได้สิบแปดพรรษาและทรงอภิเสกสมรสในปี 1889 ทั้งนี้ ก่อนหน้าพระราชพิธีอภิเสกสมรส บังเกิดอาเพศเป็นมหาเพลิงลุกไหม้หมู่พระทวารแห่งนครต้องห้ามโดยเป็นผลมาจากพิบัติภัยทางธรรมชาติในช่วงนั้น แต่ตามความเชื่อของจีนว่ากันว่าเป็นลางบอกว่า ฮ่องเต้พระองค์ปัจจุบันทรงถูกสวรรค์เพิกถอน "อาณัติ" เสียแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

และเพื่อให้ทรงสามารถครอบงำกิจการทางการเมืองได้ต่อไป ซูสีไทเฮาทรงบังคับให้ฮ่องเต้ทรงเลือกนางจิ้งเฟิน (靜芬) พระราชภาคิไนยของซูสีไทเฮาเอง เป็นพระอัครมเหสี ซึ่งฮ่องเต้ไม่โปรดเช่นนั้นแต่ก็ไม่อาจทรงขัดขืนได้ และในระยะต่อมาก็โปรดประทับอยู่กับสนมเจิน (珍妃) มากกว่ากับพระอัครมเหสี ยังให้ซูสีไทเฮาทรงพระพิโรธอยู่เนือง ๆ ในปี 1894 เมื่อสนมเจิน สนับสนุนให้ฮ่องเต้ก่อรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองจากซูสีไทเฮา ซูสีไทเฮาซึ่งทรงสดับความก่อนก็เสด็จไปบริภาษสนมเจิน ต่าง ๆ นานา และด้วยข้อหาว่าพระมเหสีทรงก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ลงโทษเฆี่ยนตีและนำพระมเหสีไปจำขังไว้ ณ ตำหนักเย็นจิตนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนี้ ถึงแม้ฮ่องเต้จะมีพระชนมพรรษาสิบเก้าพรรษาแล้ว และถึงแม้ซูสีไทเฮาจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังฤดูร้อนโดยทรงอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้ฮ่องเต้ได้ทรงคลายพระราชหฤทัยว่าจะไม่ทรงก้าวกายการบริหารราชการแผ่นดินอีก แต่โดยพฤตินัยแล้วซูสีไทเฮายังทรงมีอิทธิพลเหนือฮ่องเต้ผู้ซึ่งต้องเสด็จไปพระราชวังฤดูร้อนทุก ๆ วันที่สองหรือสามของสัปดาห์ เพื่อทูลถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อซูสีไทเฮา และหากซูสีไทเฮามีรับสั่งประการใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น

การปฏิรูปร้อยวัน

[แก้]
ขบวนเสด็จพระพันปี

หลังจากที่ทรงสามารถบริหารพระราชอำนาจโดยลำพังตามนิตินัยแล้ว จักรพรรดิกวังซฺวี่ก็มีพระราชหฤทัยใฝ่ไปในทางพัฒนาอย่างสมัยใหม่มากกว่าใฝ่อนุรักษนิยมอย่างซูสีไทเฮา และภายหลังที่จีนพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก และด้วยแรงผลักดันของนักปฏิรูปนิยมอย่างคังหยูเว่ย และเหลียงฉีเฉา ฮ่องเต้จึงทรงเห็นดีเห็นงามในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นตัวอย่าง ซึ่งทรงเห็นว่าจะช่วยพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนไปสู่ความรุ่งเรืองได้ ดังนั้น จึงทรงเริ่ม "การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "การปฏิรูปร้อยวัน" เพราะดำเนินไปเพียงหนึ่งร้อยวันก็ถูกซูสีไทเฮาล้มเลิกหมดสิ้น การปฏิรูปดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1898 โดยฮ่องเต้มีพระบรมราชโองการเป็นจำนวนมากให้มีการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง ด้านกฎหมาย และด้านสังคม เพื่อให้เปลี่ยนเข้าสู่ระบอบราชาธิปไตยฯ ดังกล่าว

การปฏิรูปการเช่นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจุบันทันด่วนเกินไปสำหรับประเทศจีนที่อิทธิพลของลัทธิขงจื้อยังมีอยู่มาก และยังทำให้ซูสีไทเฮาไม่สบพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในแนวคิดเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกด้วยเฉกเช่นเดียวกับข้าราชการบางกลุ่ม ซูสีไทเฮาจึงก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินอีกครั้ง โดยในเช้ามืดของวันที่ 21 กันยายน 1898 เสด็จพระราชดำเนินนำสรรพกำลังบุกเข้าพระราชวังต้องห้าม แล้วมีพระราชเสาวนีย์ให้ทหารของหรงลู่จับกุมองค์ฮ่องเต้ไปคุมขังไว้ ณ พระตำหนักสมุทรมุข ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะจำลองที่จัดทำขึ้นกลางทะเลสาบจงหนานถัดออกไปจากหมู่นครต้องห้าม แล้วทรงประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยเหตุที่สภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย มีการกบฏทั่วไปโดยมีอิทธิพลญี่ปุ่นหนุนหลังอันแทรกซึมมาภายใต้แนวคิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฮ่องเต้ไม่มีพระปรีชาสามารถพอจะทรงรับมือกับสถานการณ์ได้ จึงกราบบังคมทูลเชิญซูสีไทเฮาให้ทรงรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง นับว่ารัชกาลของจักรพรรดิกวังซฺวี่สิ้นสุดลงโดยพฤตินัยตั้งแต่วันนั้น

การยึดอำนาจการปกครองของซูสีไทเฮา ส่งผลให้บรรดาสมัครพรรคพวกของฮ่องเต้ เช่น คัง โหย่วเหวย เป็นต้นถูกเนรเทศออกจากประเทศ และคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะ สำหรับคัง โหย่วเหวย นั้นแม้จะถูกเนรเทศแต่ก็คงมีใจซื่อตรงต่อจักรพรรดิกวังซฺวี่และปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปตามแนวคิดของพระองค์เสมอ เขายังตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งฮ่องเต้จะได้ทรงกลับสู่พระราชบัลลังก์อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นานาชาติและประชาชนทั่วไปไม่พอใจการยึดอำนาจของซูสีไทเฮาอย่างยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]

กบฏนักมวย

[แก้]
ซูสีไทเฮาทรงฉายเมื่อ 1903 ห้าปีก่อนจะสวรรคต

ในปี 1900 บรรดานักมวยในประเทศจีนสมาคมกันต่อต้านชาวต่างชาติในประเทศ เรียก "กบฏนักมวย" (อังกฤษ: Boxer Rebillion) โดยเริ่มปฏิบัติการที่ทางภาคเหนือของจีน ซูสีไทเฮาพระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่กบฏนี้ด้วยความที่มีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์คุณค่าทางประเพณีนิยมอย่างโบราณของจีนไว้และมีพระดำริว่าชาวต่างชาติเป็นศัตรูที่ป่าเถื่อนและร้ายกาจ โดยมีประกาศพระราชเสาวนีย์สนับสนุนกบฏฯ อย่างเป็นทางการด้วย[ต้องการอ้างอิง]

นานาชาติจึงพร้อมใจกันส่งพันธมิตรแปดชาติเข้าต่อต้านกบฏในจีน ฝ่ายกองทัพจีนซึ่งมีแต่ความล้าสมัยอย่างที่สุด เพราะงบประมาณสำหรับพัฒนากองทัพนั้นซูสีไทเฮาทรงนำไปจัดสร้างพระราชวังต่าง ๆ เสียหมด ไม่อาจต้านทานกองผสมนานาชาติซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนแต่ทันสมัยได้ กองผสมจึงสามารถยึดกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามได้ในปีนั้น

ฝ่ายซูสีไทเฮานั้นก่อนทหารนานาชาติจะเข้ากรุง ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จักรพรรดิกวังซฺวี่ และข้าราชบริพารทั้งปวงขึ้นเกวียนโดยปลอมแปลงพระองค์และตัวอย่างชาวบ้านธรรมดาเพื่อลี้ภัยไปยังนครซีอาน มณฑลฉ่านซี ระหว่างเตรียมการเสด็จลี้ภัยนั้น สนมเจินในฮ่องเต้ซึ่งซูสีไทเฮามีพระราชเสาวนีย์ให้จำขังไว้ในตำหนักเย็นจิตได้ทูลขอให้ฮ่องเต้ประทับอยู่ในพระนครเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของประชาชนและเพื่อเจรจากับต่างชาติ ซูสีไทเฮาทรงสดับแล้วก็ทรงพระพิโรธนัก มีพระราชเสาวนีย์ให้ขันทีทั้งหลายเข้ากลุ้มรุมจับสนมเจินไปทิ้งลงบ่อน้ำนอกพระตำหนักหนิงเซี่ย (อังกฤษ: Ningxia Palace) ทางตอนเหนือนครต้องห้าม ถึงแก่กาลทิวงคต

ฝ่ายนานาชาติเมื่อยึดได้เมืองหลวงของจีนแล้ว ก็เสนอทำสนธิสัญญากับซูสีไทเฮา ให้ทรงรับประกันว่าจะไม่มีกบฏของจีนมาต่อต้านชาวต่างชาติอีก ให้มีทหารต่างชาติประจำอยู่ในจีนได้ และให้รัฐบาลจีนชำระค่าปฏิกรรมสงครามต่อนานาชาติเป็นเงินเกือบสามร้อยสามสิบสามล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งซูสีไทเฮาก็ทรงจำพระราชหฤทัยลงพระนามในสนธิสัญญาอันฝ่ายจีนมองว่าเป็น "ความรู้สึกถูกทำให้อัปยศ" อย่างยิ่ง และทรงยินยอมตามทุกข้อเสนอ

การสวรรคต

[แก้]
นายพลเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคกั๋วหมินตั่ง ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าได้นำไข่มุกจากพระโอษฐ์พระบรมศพซูสีไทเฮาไปทำเป็นเครื่องประดับรองเท้าภรรยาตน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 1908 จักรพรรดิกวังซฺวี่สวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วน ซูสีไทเฮาจึงทรงสถาปนาผู่อี๋ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นฮ่องเต้ต่อไป ก่อนพระองค์เองจะสวรรคตในวันรุ่งขึ้น ณ พระที่นั่งจงไห่อี๋หลวนเตี้ยน (จีน: 中海儀鸞殿; พินอิน: Zhōnghǎiyíluándiàn; อังกฤษ: Middle Sea Hall of Graceful Bird) ตามไป ครั้งนั้น มีข่าวลือสะพรัดว่าซูสีไทเฮาทรงทราบในพระสังขารของพระองค์เองว่าจะทรงดำรงพระชนมชีพต่อไปได้อีกไม่นาน ก็ทรงพระปริวิตกว่าฮ่องเต้จะรื้อฟื้นการปฏิรูปแผ่นดินอีกหลังซูสีไทเฮาสวรรคตแล้ว บ้างก็ว่าทรงเกรงว่าฮ่องเต้จะทรงเล่นงานบรรดาคนสนิทของซูสีไทเฮา จึงมีรับสั่งให้ขันทีคนสนิทไปลอบวางพระโอสถพิษฮ่องเต้ ครั้นทรงทราบว่าฮ่องเต้ทิวงคตแล้ว ซูสีไทเฮาก็ทรงจากไปโดยสบายพระราชหฤทัย[16]

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตามที่รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งคณะแพทย์ให้ปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์เพื่อชันสูตรพระบรมศพจักรพรรดิกวังซฺวี่ บัดนี้ ผลปรากฏว่า ฮ่องเต้สวรรคตอย่างเฉียบพลันเพราะทรงต้องสารหนู โดยปริมาณของสารหนูที่ตรวจพบมีมากถึงสองพันเท่าจากปริมาณที่อาจพบได้ในร่างกายมนุษย์โดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ไชนาเดลียังรายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายไต้อี้ (พินอิน: Dai Yi) นักประวัติศาสตร์ชาวจีน อีกว่าการชันสูตรดังกล่าวทำให้ข่าวลือเรื่องซูสีไทเฮามีพระราชเสาวนีย์ให้ปลงพระชนม์ฮ่องเต้เป็นเรื่องจริง[16]

ซูสีไทเฮาทรงได้รับการเฉลิมพระบรมนามาภิธัยหลังสวรรคตว่า "จักรพรรดินีเสี้ยวชิงฉือสี่ตวนโย้วคังอี๋จาวยู้จวงเฉิงโช้วกงชิงเสี้ยนฉงซีเป่ย์เทียนซิงเชิงเสี่ยน" (พินอิน: Xiào Qīng Cí Xī Dūan Yù Kang-Yi Zhao-Yu Zhuang-Cheng Shou-Gong Qin-Xian Chong-Xi Pei-Tian Xing-Sheng Xiǎn) เรียกโดยย่อว่า "จักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน" (จีน: 孝欽顯; พินอิน: Xiào Qīng Xiǎn) ทั้งนี้ พระบรมศพซูสีไทเฮาได้รับการบรรจุ ณ สุสานหลวงราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออก (จีน: 清東陵; พินอิน: Qīngdōnglíng, ชิงตงหลิง) ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเป็นระยะทางหนึ่งร้อยยี่สิบห้ากิโลเมตร เคียงข้างกับพระบรมศพของซูอันไทเฮาและพระเจ้าเสียนเฟิง

สุสานพระบรมศพราชวงศ์จีน ที่ประดิษฐานพระบรมศพซูสีไทเฮา

ซูสีไทเฮามีพระราชเสาวนีย์ให้เตรียมฮวงซุ้ยไว้สำหรับพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระชนมชีพอยู่แล้ว และมีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่าของซูอันไทเฮาหลายเท่านัก อย่างไรก็ดี เมื่อฮวงซุ้ยสร้างเสร็จครั้งแรกก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย มีพระราชเสาวนีย์ให้ทำลายเสียทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] แล้วให้สร้างใหม่ในปี 1895 หมู่ฮวงซุ้ยใหม่ของซูสีไทเฮาประกอบด้วยเหล่าพระอาราม พระที่นั่ง และพระทวาร ซึ่งประดับประดาด้วยใบไม้ทองและเครื่องเงินเครื่องทองตลอดจนรัตนชาติอัญมณีต่าง ๆ อย่างหรูหรา[ต้องการอ้างอิง]

ในเดือนกรกฎาคม 1928 นายพลซุน เตี้ยนอิง (จีน: 孫殿英; พินอิน: Sūn Diànyīng) แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ยกพลเข้าปิดล้อมและยึดหมู่ฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮา แล้วสั่งทหารให้ถอดเอาของมีค่าที่ประดับประดาฮวงซุ้ยออกทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] ก่อนจะระเบิดเข้าไปถึงห้องเก็บพระบรมศพ แล้วเปิดหีบขว้างพระบรมศพออกมาเพื่อค้นหาของมีค่า ไข่มุกเม็ดโตซึ่งบรรจุในพระโอษฐ์พระบรมศพตามความเชื่อโบราณว่าจะพิทักษ์พระบรมศพมิให้เน่าเปื่อยยังถูกฉกเอาไปด้วย ว่ากันว่าไข่มุกเม็ดดังกล่าวได้รับการนำเสนอให้แก่นายพลเจียง ไคเช็ก หัวหน้าพรรคฯ และนายพลเจียงไคเช็กได้นำไปเจียระไนเป็นเครื่องประดับรองเท้าของนางซ่ง เหม่ยหลิง (จีน: 宋美齡; พินอิน: Sòng Měilíng) ภริยาตน แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานรองรับเรื่องดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ โชคดีว่ามิได้เกิดความเสียหายอันใดแก่พระบรมศพซูสีไทเฮา ต่อมาภายหลัง 1949 รัฐบาลจีนได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์หมู่ฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮา และปัจจุบันก็เป็นสุสานพระบรมศพราชวงศ์จีนที่มีความงดงามจับใจเป็นที่สุดแห่งหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. Chung (1979), pp. 177–196.
  2. Information listed on a red sheet (File No. 1247) in the "Miscellaneous Pieces of the Palace" (a Qing dynasty documentation package retrieved from the First Historical Archives of China)
  3. Laidler, Keith (2003), "The Last Empress" (p. 58), John Wiley & Sons Inc., ISBN 0-470-84881-2.
  4. 56.com เก็บถาวร 15 ธันวาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Immanual Hsu (1985), The Rise of Modern China (pg. 215).
  6. Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 44
  7. [Sui Lijuan: Carrying out the Coup. CCTV-10 Series on Cixi, Ep. 4]
  8. 8.0 8.1 Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 45
  9. Kwong (1984), pp. 21–22.
  10. 清史稿:恭忠親王奕訢,宣宗第六子
  11. 清史稿:恭忠親王奕訢傳記載:"王入謝,痛哭引咎"。
  12. Biggerstaff, Knight. The earliest modern government schools in China, Ithaca: Cornell University Press, 1961.
  13. Evans, Nancy. "The Banner-School Background of the Canton T'ung-Wen Kuan." Papers on China 22a (1969) : 8 9-103.
  14. Zhongguo da baike quanshu. First Edition. Beijing; Shanghai: Zhongguo da baike quanshu chubanshe. 1980-1993.
  15. Professor Sui Lijuang: Lecture Room Series on Cixi, Episode 9
  16. 16.0 16.1 CNN. (2008, 4 November). Arsenic killed Chinese emperor, reports say. [Online]. Available: < http://www.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/11/04/china.emperor/index.html?eref=rss_world >. (Accessed: 3 December 2008).
  • Chung, Sue Fawn. "The Much Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz'u-Hsi (1835-1908)." Modern Asian Studies 13, no. 2 (1979) : 177-96.
  • Hummel, Arthur William, ed. Eminent Chinese of the Ch'ing Period (1644-1912). 2 vols. Washington: United States Government Printing Office, 1943.
  • Warner, Marina. The Dragon Empress: Life and Times of Tz'u-hsi 1835-1908. Weidenfeld & Nicolson, 1972.
  • 雷家聖(Lei Chiasheng)《力挽狂瀾-戊戌政變新探》,台北:萬卷樓,2004 ISBN 957-739-507-4

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

[แก้]
ก่อนหน้า ซูสีไทเฮา ถัดไป
พระพันปีเซี่ยวจิงเฉิง
ฮองไทเฮาแห่งต้าชิง
(1861 – 1881)
พระพันปีหลงยู่