บอรึส รอมันแชนกอ
บอรึส รอมันแชนกอ | |
---|---|
เกิด | บอรึส ตือมอฟียอวึช รอมันแชนกอ 20 มกราคม ค.ศ. 1926 แคว้นซูมือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน |
เสียชีวิต | 18 มีนาคม ค.ศ. 2022 คาร์กิว ยูเครน | (96 ปี)
มีชื่อเสียงจาก | ผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์ |
บอรึส ตือมอฟียอวึช รอมันแชนกอ (ยูเครน: Бори́с Тимофі́йович Рома́нченко; 20 มกราคม ค.ศ. 1926 – 18 มีนาคม ค.ศ. 2022) เป็นบุคคลสาธารณะและนักเคลื่อนไหวชาวยูเครน และเป็นผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์ในค่ายกักกันบูเคินวัลท์ ค่ายกักกันมิทเทิลเบา-โดรา และค่ายกักกันแบร์เกิน-เบ็ลเซิน เขาถูกกองทัพรัสเซียสังหารด้วยกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่อาคารที่พักอาศัยระหว่างที่รัสเซียรุกรานยูเครนใน ค.ศ. 2022[1][2][3][4]
ประวัติ
[แก้]รอมันแชนกอเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่หมู่บ้านบอนดารีในแคว้นซูมือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน[2][5]
เมื่ออายุได้ 16 ปี รอมันแชนกอถูกกองทัพนาซีจับกุมและเนรเทศไปยังดอร์ทมุนท์ ที่นั่นเขาถูกบังคับใช้แรงงานในเหมืองถ่านหินเหมืองหนึ่ง หลังจากหลบหนีไม่สำเร็จ เขาก็ถูกนำตัวไปกักกันที่ค่ายบูเคินวัลท์และถูกบังคับให้ทำงานในสายการผลิตจรวดวี-2 ที่ศูนย์วิจัยกองทัพบกเพเนอมึนเดอ จากนั้นเขาถูกย้ายไปกักกันที่ค่ายมิทเทิลเบา-โดรา และในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยออกจากค่ายแบร์เกิน-เบ็ลเซินใน ค.ศ. 1945 แต่เขาประจำการในกองทัพโซเวียตที่เยอรมนีตะวันออกต่อจนถึง ค.ศ. 1950[1] เมื่อบอริสได้กลับบ้าน เขาก็เข้าศึกษาต่อที่สถาบันการเหมืองแร่ในคาร์กิวและทำงานเป็นวิศวกร[1]
หลังจากที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีสามแห่ง รอมันแชนกอได้แบ่งปันความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นและมีส่วนร่วมในการรักษาความทรงจำเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดจากนาซีอยู่เสมอ เขาเป็นรองประธาน (จากยูเครน) ของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอดีตนักโทษบูเคินวัลท์-โดรา[6]
เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2015 รอมันแชนกอกล่าวปราศรัยในสถานที่ที่เคยเป็นค่ายกักกันบูเคินวัลท์ และอ่านคำสาบานของเหล่านักโทษบูเคินวัลท์เป็นภาษารัสเซียว่า "Наш идеал — построить новый мир мира и свободы" ("อุดมคติของพวกเราคือการสร้างโลกใบใหม่ของสันติภาพและเสรีภาพ")[6]
การเสียชีวิต
[แก้]หลังจากที่ภรรยาของรอมันแชนกอเสียชีวิต เขาก็อาศัยอยู่ตามลำพังที่ชั้น 8 ของอาคารชุดหลังหนึ่งในเขตซัลติวกาของคาร์กิว โดยมียูลียา รอมันแชนกอ ผู้เป็นหลานสาว คอยแวะไปดูแลอยู่เสมอ[1]
ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2022 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย กองทัพรัสเซียได้ระดมยิงเขตซัลติวกาซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่อง อาคารชุดของรอมันแชนกอถูกกระสุนปืนใหญ่ตกใส่ ยูลียากล่าวว่าตัวอาคารถูกไฟเผาทำลายโดยสิ้นเชิง และกล่าวว่ารอมันแชนกอ "เหลือเพียงกระดูกอยู่บนโครงเตียงที่เขานอนอยู่"[7] อีฮอร์ แตแรคอว์ นายกเทศมนตรีนครคาร์กิว ได้สั่งการให้ช่วยเหลือครอบครัวของรอมันแชนกอในการเคลื่อนย้ายและฝังศพของเขา[7] ดมือตรอ กูแลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่าเหตุการณ์นี้เป็น "อาชญากรรมที่เลวร้ายเหลือจะกล่าว รอดจากฮิตเลอร์ ตายเพราะปูติน"[8]
อนุสรณ์
[แก้]เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 สภานครไลพ์ซิชในเยอรมนีมีมติให้เปลี่ยนชื่อถนน "ทวร์มกูทชตราเซอ" (Turmgutstraße) ในย่านโกลิสซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่รัสเซียด้วย เป็น "ถนนบอรึส รอมันแชนกอ" (Boris-Romantschenko-Straße) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Trauer um Boris Romantschenko" (ภาษาเยอรมัน). Maximilian-Kolbe-Werk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "Ukraine war: Holocaust survivor killed by Russian shelling in Kharkiv" (ภาษาอังกฤษ). BBC News. 21 March 2022.
- ↑ "Holocaust-Überlebender in Charkiw getötet" (ภาษาเยอรมัน). Tagesschau. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
- ↑ "Buchenwald-Überlebender durch Bomben in Charkiw getötet". mdr.de (ภาษาเยอรมัน). 21 March 2022. สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
- ↑ "В Харькове погиб 96-летний Борис Романченко — бывший узник нацистских лагерей, сумевший выжить в Бухенвальде. В его квартиру в многоэтажке попал снаряд" (ภาษารัสเซีย). Meduza. 21 March 2022. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
- ↑ 6.0 6.1 "Boris Romantschenko getötet". buchenwald.de (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
- ↑ 7.0 7.1 Євгенія Луценко (21 March 2022). "У Харкові загинув 96-річний колишній в'язень нацистських концтаборів. У його будинок влучила російська ракета" (ภาษายูเครน). Громадське телебачення. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
- ↑ "Russian shell kills survivor of four Nazi concentration camps" (ภาษาอังกฤษ). The Times. 21 March 2022.
- ↑ "Straße vor Russischem Konsulat in Leipzig wird nach Ukrainer benannt". mdr.de (ภาษาเยอรมัน). 11 November 2022. สืบค้นเมื่อ 11 November 2022.