ประตูเมืองนครราชสีมา
ประตูเมืองนครราชสีมารวมทั้ง กำแพงเมือง และ คูเมือง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตัวเมืองนครราชสีมา ที่ได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันมีประตูชุมพลที่ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ได้ และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของนครราชสีมา
ประวัติ
[แก้]ในสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) มีพระราชดำริว่า ดินแดนภาคอีสานเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นแก่ไทย ขณะนั้น มีเมืองเสมา เมืองโคราช และเมืองพิมาย เป็นชุมชนใหญ่ ควรจะตั้งเป็นหน้าด่านได้ จึงโปรดให้สร้างเมืองที่มีป้อมปราการแบบฝรั่ง ในฐานะเมืองสำคัญชายพระราชอาณาเขต โดยเกณฑ์ช่างจากกรุงศรีอยุธยา เกณฑ์แรงงานจากเมืองโคราช กับเมืองเสมา ช่วยกันสร้างเมืองใหม่ ห่างจากเมืองโคราชเก่าในท้องที่ อำเภอสูงเนิน ไปทางทิศตะวันออก 800 เส้น (32 กิโลเมตร) ซึ่งก็คือ พื้นที่ตัวเมืองเก่า บริเวณเขตกำแพงเมือง และคูเมืองในปัจจุบัน
ผังเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม รูปกลองชัยเภรี มีความกว้างประมาณ 1,000 เมตร (มาตราวัดของไทย : 25 เส้น) ยาวประมาณ 1,700 เมตร (มาตราวัดของไทย : 43 เส้น) มีพื้นที่ภายในประมาณ 1,000 ไร่ ( 1.60 ตร.กม.) ขุดคูกว้าง 20 เมตร (10 วา) และลึก 6 เมตร (3 วา) ยาวล้อมรอบเมือง มีโครงข่ายถนนภายใน ตัดกันมีรูปแบบเป็น ตารางหมากรุก (pattern system) ก่อสร้างกำแพงเมือง โดยก่ออิฐขึ้นจากหินศิลาแลง มีความสูง 6 เมตร (3 วา) ยาวโดยรอบ 5,220 เมตร (2,610 วา) บนกำแพงมีใบเสมาโดยรอบ จำนวน 4,302 ใบ
เดิมนั้น ก่อนการก่อสร้างกำแพงเมือง ใบเสมาบนกำแพง ได้ออกแบบไว้ให้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามแบบของฝรั่ง แต่ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้าง พระยมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะใบเสมาให้เป็นแบบของไทยแทน มีป้อมประจำกำแพง และป้อมตามมุมกำแพงรวม 15 ป้อม มีประตูเมืองกว้าง 3 เมตร (1 วา 2 ศอก) จำนวน 4 ประตู โดยประตูเมืองทั้ง 4 เป็นทางเข้าออกเมืองทั้งสี่ทิศ [1]
บริเวณซุ้มประตูเมือง จะมีหอยามรักษาการณ์ - เชิงเทิน รูปแบบเป็นทรงไทยโบราณ ศิลปะสมัยอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันหมดทุกแห่ง มีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 นี้ว่า
เมื่อระยะเวลาผ่านไป สิ่งก่อสร้างบางอย่างได้ถูกทำลายลง เมื่อครั้งที่ได้เกิดศึกกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งกรุงเวียงจันทน์ ที่ได้เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา กอปรกับส่วนหนึ่งถูกสภาพภูมิอากาศ และ ภัยธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม และ ฝน ทำลายเสียหายไปบ้าง ทำให้ทรุดโทรมลง เหลือแต่เพียง ประตูเดียวก็คือ ประตูชุมพล ที่ยังหลงเหลือโครงสร้างเดิมไว้อยู่
รายละเอียดของประตูเมือง
[แก้]ประตูชุมพล
[แก้]ประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียว ในบรรดาประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตูของเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า สำหรับ ชื่อประตู "ชุมพล" นั้นหมายความถึง ที่ชุมนุมพลส่วนใหญ่ เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พล และออกศึก เนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้าง ไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่น ๆ [2] ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะแคล้วคลาดได้กลับบ้านเมือง
เนื่องจากตัวเมืองปัจจุบัน ได้มีขยายออกไปยังบริเวณรอบนอกไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่าเดิม ส่งผลทำให้ปัจจุบัน ประตูชุมพลจึงเสมือนตั้งอยู่กลางเมือง ต่อมาทางหน่วยราชการของจังหวัดนครราชสีมาได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) แล้วนำมาประดิษฐานบนแท่นสูง ตรงบริเวณหน้าประตูชุมพล ซึ่งได้มีการถมคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน เพื่อทำเป็นพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับ หอ ยามรักษาการณ์ทรงไทย, ประตูเมือง และกำแพงเมืองโบราณที่ชำรุดทรุดโทรมพังลงไปมากนั้น ทางราชการได้บูรณะซ่อมแซม และสร้างขึ้นมาใหม่บางส่วน โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและศิลปะการก่อสร้างตามของเดิมไว้ทั้งหมด พร้อมกับได้อัญเชิญ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ทั้งหมดมาสร้างและตั้งขึ้น ณ บริเวณที่ปัจจุบัน ตราบเท่าทุกวันนี้
อนึ่ง ประตูชุมพล ทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480[3]และ กำแพงเมืองโคราช ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479[4]
-
ประตูชุมพล ก่อนการบูรณะ
-
ประตูชุมพลในปัจจุบัน
-
ประตูชุมพลในปัจจุบัน
-
ประตูชุมพลในปัจจุบัน
ประตูพลแสน
[แก้]ประตูเมืองทางทิศเหนือ เรียกกันทั่วไปว่า "ประตูน้ำ" เป็นเพราะประตูนี้หันหน้าสู่ ลำตะคอง ซึ่งเป็นคลองกั้นคูเมืองอีกชั้นหนึ่ง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ในอดีตจะใช้ลำตะคองในการชลประทาน และเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ สำหรับชื่อประตู "พลแสน" นั้นหมายถึง ถึงจะยกทัพมาสักแสน ก็ยังต่อสู้ได้[2]
-
ประตูพลแสน ในปี ค.ศ. 1893
-
ประตูพลแสนในปัจจุบัน
ประตูไชยณรงค์
[แก้]ประตูเมืองทางทิศใต้ ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูผี" เนื่องจากในอดีต มีประเพณีความเชื่อว่า เมื่อมีคนตายขึ้นในเมือง ห้ามมีการเผา หรือฝังเอาไว้ในเมือง ให้ออกไปจัดการกันที่นอกเมือง โดยให้นำศพผ่านออกทางประตูนี้เพียงประตูเดียว นอกจากนั้นแล้ว ทางทิศใต้นี้ยังมีบึงใหญ่ มีชื่อเรียกว่า "หนองบัว" สำหรับชื่อประตู "ไชยณรงค์" นั้น เนื่องมาจาก เมื่อยามเกิดศึกสงคราม ประตูนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยากต่อการโจมตีของข้าศึก เพราะภูมิประเทศด้านนี้ เต็มไปด้วยหนองน้ำขนาดใหญ่ และเล็ก แต่ในปัจจุบัน หนองน้ำเหล่านั้นได้ถูกถมไปหมดแล้ว[2]
-
ประตูไชยณรงค์ในปัจจุบัน
ประตูพลล้าน
[แก้]ประตูเมืองทางทิศตะวันออก ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูตะวันออก" หรือ "ประตูทุ่งสว่าง" แต่เดิม ทิศนี้มีบึงใหญ่ที่เรียกว่า "บึงทะเลหญ้าขวาง" มีพื้นที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ส่วนกลางเป็นบึงใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "วัดทุ่งสว่าง" สำหรับชื่อประตู "พลล้าน" นั้น นัยว่าเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึก ที่ถึงจะยกทัพมาสักล้าน ก็ยังต่อสู้ได้[2]
-
ประตูพลล้านในปัจจุบัน
-
ประตูพลล้านในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลง
[แก้]ในปัจจุบัน ประตูเมือง 3 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสน, ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ ได้มีการบูรณะ และ ก่อสร้างใหม่ โดยทำการรื้อถอนประตูเมืองและกำแพงเมืองเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ในลักษณะของซุ้มประตูทั้ง 3 นั้น ได้ออกแบบลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัย โดยยึดเค้าโครงเดิมของประตูเมือง และกำแพงเมืองแบบเดิม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ก่อสร้างซุ้มประตูใหม่นั้น พื้นที่ตัวเมืองมีการขยายเพิ่มขึ้น และได้มีการขยายถนนออกไปทางประตูเมืองทั้ง 3 จากเดิมในอดีตมาก จึงทำให้การออกแบบซุ้มประตูมีความกว้างเพื่อรองรับกับการจราจรและรถยนต์ที่สัญจรเข้าออกผ่านซุ้มประตูเมืองทั้ง 3 เป็นอย่างดี
การบูรณะ และก่อสร้าง ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2530 นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีเฉลิมพระเกียรติแต่พระเจ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นปีท่องเที่ยวไทย สมควรจะได้ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูเมืองนครราชสีมาอีก 3 ประตู ซึ่งหักพัง และถูกรื้อสูญไปแล้ว ให้มีครบทั้ง 4 ประตู ตามที่เคยมีมาตั้งแต่โบราณ
ขั้นตอนในการก่อสร้าง
[แก้]ขั้นตอนที่ 1
[แก้]การคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกสถานที่ขึ้น ประกอบด้วยนายเด็ดดวง สุคนธรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ศึกษาและค้นคว้าประวัติ และตำนานของเมืองนครราชสีมา และกำหนดจุดก่อสร้างให้ตรงตามประวัติและสถานที่ดั่งเดิม และประสานขอใช้สถานที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาของคณะกรรมการ จึงได้กำหนดจุดก่อสร้างประตูทั้งสาม ดังนี้
- ก่อสร้างประตูพลแสน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศเหนือ ตรงใกล้สี่แยกถนนพลแสนตัดกับถนนประจักษ์ (หน้าวัดสามัคคี)
- ก่อสร้างประตูไชยณรงค์ ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศใต้ ตรงบริเวณใกล้ห้าแยกราชนิกูล (ใกล้บริเวณตลาดสดประตูผี)
- ก่อสร้างประตูพลล้าน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศตะวันออก ตรงใกล้สี่แยกถนนจอมพลตัดกับถนนพลล้าน (ใกล้ทางเข้าทุ่งสว่าง)
จังหวัดได้ขอใช้ที่ราชพัสดุทั้ง 3 แห่ง ในการก่อสร้าง และได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ตามหนังสือด่วนมาก ที่ กค 0507/3788 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 และจังหวัดได้ขอรับความเห็นจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับจุดก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง และแบบแปลน
ซึ่งสำนักงานโยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเขียนขึ้น (แบบแปลนที่ ยธ.นม.232) ตลอดจนขอทราบว่า แต่เดิมกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง เป็นโบราณสถานหรือไม่ และยินยอมให้จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างประตูเมืองตามแบบแปลนที่ ยธ.นม.232 ดังกล่าวหรือไม่ กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบว่า กรมศิลปากรมิได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานประตูเมืองทั้งสามไว้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลยพินิจของจังหวัดที่จะดำเนินการ (ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ ศธ 0704/2016 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2530)
ขั้นตอนที่ 2
[แก้]การออกแบบก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายช่าง ซึ่งประกอบด้วย นายประชา จิตรภิรมย์ศรี โยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน นายสมศักดิ์ กุลนรากร นายช่างโยธา 4 เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ออกแบบกำแพง และซุ้มประตูเมืองให้มีรูปลักษณะคล้ายของเดิมตามประวัติศาสตร์ โดยให้ถือประตูชุมพลเป็นแบบ คณะกรรมการฝ่ายช่างได้ออกแบบตามแบบ ยธ.นม.232 และประมาณการก่อสร้างประมาณประตูละ 1.3 ล้านบาทเศษ
ขั้นตอนที่ 3
[แก้]การจัดหาทุนก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ซึ่งประกอบไปด้วย นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดหาทุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ผลการดำเนินการของคณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ปรากฏว่า มีผู้บริจาคเงินก่อสร้าง ดังนี้
- ประตูพลแสน
เดิมนายเหรียญ จึงวัฒนาภรณ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดคิงส์ยนต์ รับบริจาคแต่ผู้เดียว แต่เนื่องจากการก่อสร้างประตูเมืองเป็นถาวรวัตถุเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลของผู้บริจาคเงินก่อสร้าง จึงมีผู้ขอร่วมบริจาคเงินก่อสร้างขึ้นในประตูนี้รวม 8 คนคือ
- นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
- นายเหรียญ จึงวิวัฒนาภรณ์
- นายวิชัย เชิดชัย
- นายบรรยง หล่อธาราประเสริฐ
- นายมุข วงษ์ชวลิตกุล
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ภาคอีสานพาณิชย์ (ตังปัก)
- นายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์
- นายทศพล ตันติวงษ์
- นายป่วยเฮียง แซ่โค้ว
- ประตูพลล้าน
- นายอาคม ไตรบัญญัติกุล เจ้าของ และผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็น และครอบครัว รับเป็นผู้บริจาคค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว
- ประตูไชยณรงค์
- บริษัท เอกศิลป์ จำกัด และบริษัท เค.เค.พัฒนาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้บริจาค
ขั้นตอนที่ 4
[แก้]ขั้นตอนการก่อสร้างได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นเป็น 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จากการรับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง ปรากฏผลดังนี้
- ประตูพลแสน ห้างหุ้นส่วนจำกัดยงประเสริฐ โดย นายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
- ประตูพลล้าน ห้างหุ้นส่วนจำกัดวรรณาวดี โดย นางชุลี เตชะธีระปรีดา เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
- ประตูไชยณรงค์ บริษัท เอกศิลป์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
สถานที่ใกล้เคียง
[แก้]- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
- วัดหนองบัวรอง
- วัดศาลาลอย
- วัดแจ้งใน
- สถานีรถไฟนครราชสีมา
- สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ
- ค่ายสุรนารี
- พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-28. สืบค้นเมื่อ 2008-06-28.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ประวัติจังหวัดนครราชสีมา, เมืองโคราช[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ,เล่มที่ ๕๔, หน้า ๒๒๘๕". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.
- ↑ "ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ,เล่มที่ ๕๓, หน้า ๑๕๒๗". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.
- ↑ "คัดจากหนังสือที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่9 จังหวัดนครราชสีมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.