ข้ามไปเนื้อหา

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4 พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ7 กรกฎาคม พ.ศ. 2428
วังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพพระมหานคร
สิ้นพระชนม์26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 (23 ปี)
วังนางเลิ้ง กรุงเทพพระมหานคร
พระสวามีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2443–2451)
พระบุตรหม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร
ราชสกุลภาณุพันธุ์ (ประสูติ)
อาภากร (เสกสมรส)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระมารดาหม่อมเลี่ยม ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
ศาสนาพุทธ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ (7 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451) พระนามเดิม หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ต่อมาได้เสกสมรสเป็นพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยเป็นพระมารดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 8[1]

พระประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์เป็นพระธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมเลี่ยม ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ศุภสุทธิ์) สตรีชาวเพชรบุรี[2] เมื่อแรกประสูติทรงฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมเจ้า พระบิดาทรงออกพระนามว่า หญิงทิพย์ ประสูติ ณ วังบูรพาภิรมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2428[3]

ส่วนพระนามหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ นั้นได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังทรงมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพราะโปรดให้ตามเสด็จประพาสหัวเมืองด้วยเสมอ[3]

เสกสมรส

[แก้]

หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์เสกสมรสกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2444) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีเสกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ในตอนค่ำวันเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ออกไปส่งตัวท่านหญิงที่วังนางเลิ้ง[4] อันเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นที่ประทับ[5]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ มีพระโอรส 3 องค์ คือ

  1. หม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร ประสูติและสิ้นชีพิตักษัยในวันเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. 2446
  2. หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อาภากร (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พระหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา[6], พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[7] และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[8] เสกสมรสกับหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม วิเศษกุล) แต่ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดา[9]
  3. หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร (11 สิงหาคม พ.ศ. 2449 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2508) เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ไพเราะ กฤดากร มีธิดา 2 คน[10]

สิ้นชีพิตักษัย

[แก้]
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ขณะที่หม่อมเจ้ารังษิยากรพระโอรสองค์เล็กมีพระชันษาเพียง 1 ปี ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ได้เสวยยาพิษปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451[11] และได้สิ้นชีพิตักษัยเวลา 10.50 นาฬิกา[12] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายราชกิจรายวัน มีความบางตอนเกี่ยวกับการสิ้นชีพิตักษัยของท่านหญิงทิพย์ ความว่า[13]

"วันนี้เวลาเช้า ๕ โมงเศษ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นชีพตักไษยเพราะเสวยยาพิศม์ เวลาค่ำโปรดให้กรมขุนสมมุต [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมติอมรพันธุ์] เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จกรมพระ [สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช] แลในเวลาค่ำวันนี้ได้มีการรดน้ำแลแต่งศพเหมือนอย่างที่ไว้ที่บ้าน แล้วแห่ศพไปฝัง ณ สุสานวัดเทพศิรินธร์ พระราชทานกลองชนะ ๑๐ จ่าปี ๑ ฉัตร เบ็ญจา ๑๒ คัน..."

ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 127 (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ทูลเกล้าฯ ถวายลายพระหัตถ์พร้อมร่างกำหนดการแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมแม้น และพระศพพระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในคราวเดียวกันที่วัดเทพศิรินทราวาส[13] ความว่า[14]

"ภายหลังที่ได้รับศพชายเล็ก [พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช] มาถึงวันนี้แล้ว ไม้ช้าวันนัก ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้รับความทุกข์โทมนัสซ้ำเติมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือหญิงทิพย์ต้องมาเปนอันตรายไป แลหญิงทิพย์ก็ได้มีความประสงค์แลสั่งไว้ให้ช่วยจัดการรีบเผาศพ เสียอย่าให้ล่วงเกินปีหนึ่งไปด้วย..."

แต่เมื่อได้รับลายพระหัตถ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงไม่เห็นด้วย ด้วยทรงวิตกเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระอนุชาที่กำลังทรุดโทรมเพราะตรอมพระทัยจากการสูญเสียพระโอรสธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงพระราชทานพระราชกระแสไม่เห็นด้วย ปรากฏในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 1 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ความว่า[14]

"ถึงท่านเล็ก ฉันได้รับหนังสือขอกำหนดการที่จะทำการเผาศพเริ่มงานตั้งแต่ ๒ มกราคมนั้น จะเปนงานติดต่อกันไปถึง ๑๒ วัน เหนว่าในเดือนมกราคม ตั้งแต่ต้นเดือนก็เปนเวลามีงาน แลต่อไปก็คงมีการโกนจุก การศพแต่ก่อนมาก็เคยทำแต่ไม่เกินเดือน ๓ ซึ่งเปนเวลาแล้งแลว่างไม่มีการงาน ถ้าจะรีบเข้ามาทำในเดือน ๒ ก็เปนเวลาที่เธอเหน็จเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม เมื่อมีงานมากเช่นนี้ก็จะต้องเหน็จเหนื่อยมาก ทั้งงานก็เปนงานฝ่ายทุกข์โศก จะเปนเครื่องเตือนให้เกิดความทุกข์โศกประกอบขึ้นอีก..."

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสเช่นนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนภาณุพันธุวงศ์วรเดชต้องทรงน้อมรับ และเลื่อนงานพระศพออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ โดยงานพระราชทานเพลิงได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 ซึ่งได้มีการขุดหลุมบรรจุพระศพขึ้นมา เพื่ออัญเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[15] ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงพระศพก็ได้จัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน[15] และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้อัญเชิญพระสรีรังคารไปประดิษฐานที่อนุสาวรีย์ของราชสกุลภาณุพันธุ์หลังตึกแม้นนฤมิตร์ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ส่วนพระอัฐินั้นได้อัญเชิญไปตั้งไว้ในวังนางเลิ้งของพระสวามี[15]

หลังการสิ้นพระชนม์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้เป็นบิดา ได้นิพนธ์กลอนขึ้นมาบทหนึ่ง จากการที่ทรงเศร้าเสียพระทัยในการสูญเสียพระธิดาอันเป็นที่รัก ความว่า[16]

เขาไม่รักเราแล้วหนอพ่อจะเลี้ยง
ถึงเวียงวังเราก็มีที่อาศัย
เขาไม่รักเราแล้วก็แล้วไป
จะไปรักใครเขาใยให้ป่วยการ

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์

แม้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จะไม่สามารถลืมความสูญเสียครั้งนี้ได้ แต่ด้วยทรงร่วมงานกระทรวงทหารเรือกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์โดยไม่คำนึงถึงเหตุการณ์ในอดีต ด้วยทรงตระหนักดีถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ พระองค์จึงได้ให้การสนับสนุนพระดำริของกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะที่ทรงเป็นเสนาธิการทหารเรือเสมอมา[17]

พระจริยวัตร

[แก้]

กล่าวกันว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์เป็นกุลสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงามและเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ฝ่ายในพึงมี หลังการเกศากันต์ได้ไม่นานพระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ก็ได้เข้าไปฝึกหัดอย่างชาววังในสำนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี[1] ภายหลังการถึงแก่กรรมของหม่อมแม้นในปี พ.ศ. 2439 พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ได้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน ดูแลความเรียบร้อยของวังบูรพาภิรมย์แทน[1] เมื่อครั้งที่พระบิดาประชวรหนักในวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2448 พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ซึ่งขณะนั้นได้เสกสมรสและย้ายมาประทับที่วังนางเลิ้งแล้ว ได้ทูลลาพระสวามีมาประทับที่วังบูรพาภิรมย์เพื่อเฝ้าปฐมพยาบาลบิดาโดยมิได้พักผ่อน ทำให้พระวรกายอ่อนแอลงหลังจากนั้น[18] จึงถือว่าพระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์เป็นพระธิดาคู่ทุกข์คู่ยากของพระบิดาโดยแท้จริง[1]

จากความผูกพันดังกล่าวทำให้พระบิดามีพระเมตตาต่อพระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์มากเป็นพิเศษ ดังคำกล่าวของพระบิดา ซึ่งได้กล่าวถึงท่านหญิงในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพิธีเกศากันต์ ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2439 ตอนหนึ่ง ความว่า[19]

"ส่วนหญิงทิพย์นั้นถึงแม้ว่าจะเปนลูกเมียน้อยก็จริงอยู่ แต่ก็เปนผู้ที่ข้าพระพุทธเจ้ารักใคร่ในตัวเด็กมาก เพราะเปนบุตรหญิงใหญ่ แลเปนเด็กฉลาดแลประพฤติดี อันได้กระทำให้สมใจข้าพระพุทธเจ้า ผู้เปนบิดาอยู่ทุกประการ"

พระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ (7 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ (สถาปนาพระอัฐิ)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 133
  2. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 130
  3. 3.0 3.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 132
  4. ราชกิจจานุเบกษา. การมงคลของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช, เล่ม 17, ตอน 50, 10 มีนาคม ร.ศ. 119, หน้า 732
  5. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 136
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขึ้นเป็นพระหลานเธอพระองค์เจ้า, เล่ม ๒๖, ตอน ๐ก, ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒, หน้า ๘๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงษานุวงษ์, เล่ม ๒๗, ตอน ก, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ก, ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๖๗๒
  9. "หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา" (Press release). ข่าวสด. 7 มีนาคม พ.ศ. 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  10. กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  11. ข่าวสิ้นชีพิตักษัย
  12. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 138
  13. 13.0 13.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 139
  14. 14.0 14.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 140
  15. 15.0 15.1 15.2 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 141
  16. ปุจฉา-วิสัชนา เกี่ยวกับเสด็จในกรมฯ เพิ่มเติมเสริมความรู้[ลิงก์เสีย]
  17. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 143
  18. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 134
  19. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 135
  20. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 23, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449, หน้า 894
  21. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 18, ตอน 34, 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444, หน้า 669
  • กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. [ม.ป.ท.] : ดำรงวิทยา, 2548. ISBN 974-93740-5-3