ข้ามไปเนื้อหา

ระบบพีระมิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบปิรามิด (pyramidal system) เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทสั่งการ หรือระบบประสาทมอเตอร์ (motor system) ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายภายใต้อำนาจจิตใจ (voluntary control)

ตำแหน่งของระบบปิรามิด

[แก้]

ระบบปิรามิดสามารถพบได้ที่ชั้นที่ 5 ของเปลือกสมอง precentral gyrus หรือ primary motor cortex หรือ Brodmann's area 4 (M1) ซึ่งอยู่ด้านหน้าต่อร่อง central sulcus โดยมีจุดกำเนิดจากเซลล์ที่มีรูปร่างคล้ายปิรามิดที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า giant betz cell โดยแอกซอน (axon) ของเซลล์ดังกล่าวจะสอดแทรกผ่าน internal capsule ไปยัง cerebral peduncle ของก้านสมองส่วน midbrain เมื่อถึงสมองส่วน medulla จะเกิดการทอดไปยังฝั่งตรงข้าม ณ บริเวณที่เรียกว่า pyramidal decussation และจะเกิดการรวมกลุ่มกันเป็น lateral corticospinal tract ไปสิ้นสุดยังไขสันหลังซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง โดยใยประสาทนี้จะไปเลี้ยงเซลล์ประสาทอัลฟามอเตอร์ (α motor neuron) และแอกซอนของเซลล์ประสาทมอเตอร์ก็จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลาย (skeleton muscle) ต่อไป

หน้าที่ของระบบปิรามิด

[แก้]

ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายด้านตรงข้ามของร่างกาย โดยควบคุมภายใต้อำนาจจิตใจ เช่น ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนต่างๆอย่างเช่นการควบคุมนิ้วมือเพื่อใช้ในการหยิบจับสิ่งของหรือเขียนหนังสือ การแสดงออกทางสีหน้า การพูด เป็นต้น

การทำงานของระบบปิรามิดร่วมกับระบบอื่น

[แก้]

ระบบปิรามิดจะมีการทำงานร่วมกันกับระบบนอกปิรามิดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสั่งการ เพื่อควบคุมคุณภาพของการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การวิ่ง หรือการเตะลูกบอล เป็นต้น ซึ่งระบบสั่งการนั้นจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของสมองหลายบริเวณเพื่อประมวลและสั่งการให้กล้ามเนื้อเกิดการเคลื่อนไหวต่อไป

ความผิดปกติของระบบปิรามิด

[แก้]

การเกิดพยาธิสภาพในระบบปิรามิด อาจทำให้เกิดอัมพาตแบบต่างๆขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพนั้นเป็นส่วนใด โดยอาจมีอาการแบบไม่รุนแรง สามารถขยับร่างกายได้บ้างจนถึงการเกิดอัมพาตทั้งตัว ซึ่งสาเหตุนั้นอาจจะมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองที่อาจเกิดการอุดตัน ทำให้เนื้อสมองขาดเลือดจนเกิดภาวะช็อคและเป็นอัมพาตได้ นอกจากนี้ ภาวะที่เกิดการบาดเจ็บของไขสันหลังทั้งการกดทับหรือการตัดขาดก็ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการเป็นอัมพาตเช่นกัน