วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล
เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
วิชญ์วิสิฐ เสาติง | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 พิชญ์ โพธิ์คัณธา |
อาชีพ | นักแสดง, นักร้อง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | “มิว” - รักแห่งสยาม (2550) “เตวิช” - สายสืบดิลิเวอรี่ (2552) "บอส" - Club Friday The Series 5 ความลับของหัวใจที่ไม่มีจริง (2558) |
สังกัด | แฮปปีโฮม (Happy Home) |
สุพรรณหงส์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2550 - รักแห่งสยาม (เข้าชิง) |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2550 - รักแห่งสยาม (เข้าชิง) |
ฐานข้อมูล | |
IMDb | |
ThaiFilmDb |
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล[1] (ชื่อเล่น: พิช) เป็นนักแสดง และนักร้องชาวไทย ที่มีชื่อเสียงจากการแสดงเป็น “มิว” ตัวละครเอกของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “รักแห่งสยาม” (2550) และการเป็นนักร้องนำวงออกัส
ประวัติ
[แก้]วิชญ์วิสิฐ (เดิมชื่อ พิชญ์ โพธิ์คัณธา)[2] เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากศึกษาในโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย) จึงมีความศรัทธาในศาสนาคริสต์ด้วย
ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] มีงานอดิเรกคือ การแต่งเพลง เล่นเปียโนและถ่ายภาพแบบโลโมกราฟี นอกจากนี้ เขายังชื่นชอบ เคน ฮิราอิ นักร้องแนวอาร์แอนด์บีชาวญี่ปุ่นและการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง วุ่นรัก นักดนตรี เป็นพิเศษ
ผลงาน
[แก้]เข้าวงการจากการชักชวนของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิษย์เก่ารุ่นพี่ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
เริ่มชีวิตการแสดง จากการเป็นตัวประกอบ (เห็นแขน) ในเรื่อง “13 เกมสยอง” (2549)[4] ในปีถัดมา ได้รับบทเป็น “มิว” ในภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม (2550) ที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมาก และทำให้วิชญ์วิสิฐ ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายจากภาพยนตร์ไทยแห่งปี เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2550[5] และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 และรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 16 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม[6]
ในปี พ.ศ. 2551 วิชญ์วิสิฐร่วมแสดงภาพยนตร์สั้นเรื่อง โดปามีน (Dopamine) ซึ่งกำกับโดยชูเกียรติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ออกฉายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงาน วันทูคอล ไอดี โชว์เคส เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ต่อมา วิชญ์วิสิฐยังมีส่วนร่วมแสดงภาพยนตร์สั้น แนวโรแมนติกแฟนตาซี ผลงานกำกับของชูเกียรติ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ฝัน-หวาน-อาย-จูบ[7] โดยแสดงในตอน ฝัน ร่วมกับวงออกัส[8][9]
เมื่อปี พ.ศ. 2554 วิชญ์วิสิฐมีผลงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกวงออกัส ในเรื่อง เพื่อนไม่เก่า รับบทเป็น บาส เข้าฉายวันแรก 26 พฤษภาคม ผลงานกำกับของ เกรียงไกร วชิรธรรมพร (ปิง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ร่วมงานกับชูเกียรติอีกครั้ง ในผลงานเรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ รับบทเป็น เลี่ยม (มอส) น้องชายของปรียา (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) นางเอกของเรื่อง นอกจากนี้ ยังรับเชิญร่วมแสดง ในภาพยนตร์เรื่อง เธอเขาเราผี และ เกรียนฟิคชั่น อีกด้วย
เริ่มปรากฏความเป็นศิลปินตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ด้วยการเป็นนักร้องนำในวงดนตรีของโรงเรียน มีผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกคือ การร้องนำในเพลง ไม่เป็นไร (สมมุติว่า รีมิกซ์)[10] ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ข้าวเหนียวหมูปิ้ง (2549)[3] และในปีต่อมา วิชญ์วิสิฐเป็นผู้ร้องเกือบทุกเพลง ที่ประกอบภาพยนตร์ รักแห่งสยาม (2550) เนื่องจากบทบาทที่ได้รับ เป็นนักร้องนำของวงออกัส โดยเพลง รู้สึกบ้างไหม เป็นผลงานการแต่งเนื้อร้องของเขาเอง[4] จากนั้น วิชญ์วิสิฐร่วมแสดงกับนัสนันท์ เธียไพรัตน์ (พลอย) ในมิวสิกวิดีโอเพลงหากเธอหมดรัก ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มของพลอย[11] ที่ออกอากาศเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2551[12]
ต่อมา วิชญ์วิสิฐออกอัลบั้มเพลง ออกัส * แตงซ์ (august * thanx) ร่วมกับวงออกัส ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ล่าสุด วิชญ์วิสิฐมีงานเพลงร่วมกับวงออกัส ในอัลบัมเรดิโอโดรม (RadioDrome) โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ออกซิงเกิลเพลงเปิดตัว ดวงตะวัน (Sunshine) ซึ่งวิชญ์วิสิฐเป็นผู้แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง เพื่อประชาสัมพันธ์เบื้องต้น ตามรายการเพลงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงต่าง ๆ ทั้งนี้ อัลบัมเต็มออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนที่ภาพยนตร์ฝัน-หวาน-อาย-จูบ (4 Romances) จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ในวันที่ 25 ธันวาคม
นอกจากนี้ ยังร้องเพลงประกอบละครวารสารฯ ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2551 เรื่อง Dear Passenger ชื่อเพลง ปีก[13] โดยเป็นคนแต่งเพลงเอง และต่อมาร้องเพลง ผู้เป็นที่รัก[14] ประกอบละครวารสารฯ เรื่อง ดาลิต ที่จัดแสดงในปี พ.ศ. 2553 อีกด้วย จากนั้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 วิชญ์วิสิฐออกซิงเกิลเพลง (Take care) เป็นภาษาไทยและภาษาจีน และหลังจากนั้น ออกซิงเกิลเพลง จุดหมาย (Goal) เพื่อประกอบภาพยนตร์ เกรียนฟิคชั่น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 วิชญ์วิสิฐได้รับเชิญ จาก โดฟ แชมพู ร่วมกับชูเกียรติ ให้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณาชุด เช้าวันใหม่ (อังกฤษ: Better Morning)[15] ต่อมา ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เขาร่วมกับวงออกัส และมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร (ครูเป็ด เอเอฟ หรือ นายสะอาด) แสดงภาพยนตร์โฆษณา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า รสหมูสับ ในชุด “สามัคคี” อีกด้วย[16] จากนั้น ในเดือนธันวาคม วงออกัสปรากฏตัวร่วมกับนักแสดงนำ ในภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ ฝัน-หวาน-อาย-จูบ
วิชญ์วิสิฐได้ร่วมเป็นหนึ่งในดารารับเชิญ ของละครซิตคอมระเบิดเถิดเทิง ในตอนที่ 631 สอบซ่อม ซึ่งออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 14:00-16:00 น. ทาง ททบ.5 โดยรับบทเป็น “เอ” ลูกชายคนเดียวของหมออาร์ต เจ้าของคลินิกลดความอ้วน ในตลาดเถิดเทิง เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับลูกเกลี้ยง ลูกบุญธรรมของเท่ง เถิดเทิง (แสดงโดย อเล็กซ์ เรนเดลล์) เอเรียนหนังสือเก่งมาก ได้เกรด 4 ทุกวิชา แต่กลับตกในวิชาพลศึกษา จึงต้องสอบซ่อมเดาะตะกร้อ โดยมีเท่งกับโหน่งช่วยฝึกสอน[17] ทั้งนี้ ในรอบถอดสลักระเบิด วิชญ์วิสิฐต้องเข้าไปดึงสลักในโดมถึงสองครั้ง ครั้งแรกเลือกสลักหมายเลข 3 ไม่ระเบิด จึงได้รับรางวัลทองคำมูลค่า 10,000 บาท ครั้งที่สองเลือกสลักหมายเลข 2 ซึ่งเป็นสลักระเบิด เขาจึงโดนระเบิดแป้ง และไม่ได้รับรางวัลเครื่องปรับอากาศ[18]
ต่อมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม ปีเดียวกัน เวลา 22:55-23:45 น. วิชญ์วิสิฐพร้อมด้วยวงออกัส ร่วมเป็นดารารับเชิญ ในรายการสาระแน ทาง ททบ.5 โดยทีมงานได้จัดสถานการณ์ให้วงออกัสไปแสดงดนตรี พร้อมทั้งนำทุนการศึกษา และสิ่งของไปบริจาคแก่นักเรียน โรงเรียนวัดโคกสว่าง จังหวัดนครนายก ซึ่งมีการฝึกฝนนักเรียนที่สนใจ ให้สามารถขี่จักรยานล้อเดียวแบบผาดโผนได้ ระหว่างที่แสดงดนตรีอยู่นั้น มีหน้าม้าของรายการ ที่ใช้ชื่อว่า คุณครูเม็ดนุ่น ปลอมเป็นวงดนตรีไทยชื่อ วงดนตรีแห่งสยาม เข้ามาท้าเล่นดนตรีประชันกัน แต่ในที่สุด วงออกัสก็เป็นฝ่ายแพ้ ทันใดนั้น ลุงปุ๋ย หน้าม้าที่ปลอมตัวเป็นภารโรงของโรงเรียน อาสาเข้าช่วยเหลือวงออกัส โดยเปิดเผยตัวว่า เป็นมือกีตาร์ที่เก่งกาจ มีฉายาว่า กิตติพงศ์ กีตาร์เป๋ พร้อมอ้างว่าเป็นถึงลูกศิษย์ของ กิตติ กีตาร์ปืน เลยทีเดียว ทว่าความจริงก็เปิดเผยออกมาว่า ทั้งคุณครูเม็ดนุ่น และลุงปุ๋ย ต่างก็มีแบ็กอัพช่วยเล่นอยู่หลังเวที สุดท้ายระนาดของคุณครูเม็ดนุ่นเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เวทีเกิดไฟไหม้ และทุกคนต่างก็กระจัดกระจายหนีไป เป็นอันจบเรื่องราว[19]
จากนั้นวิชญ์วิสิฐรับเชิญจากเชฟอิ๊ก-บรรณ บริบูรณ์ ให้มาร่วมทำอาหาร แบบไม่ต้องใช้ก๊าซหุงต้ม สำหรับงานเลี้ยงเล็ก ๆ ภายในห้องพัก โดยมีวงออกัสมาร่วมรับประทานด้วย เพื่อนำไปออกอากาศในรายการ ครัวอินดี้ ตอน แรงบันดาลใจที่ 36 : ปาร์ตี้เด็กหอ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กันยายน ปีเดียวกัน ระหว่างเวลา 10:25-10:55 น. ทาง ททบ.5 ในส่วนของอาหารที่ทำนั้น ประกอบด้วย มะกะโรนีชีส ซึ่งใช้หม้อหุงข้าวทำ เป็นอาหารจานหลัก, ขนมปังแผ่นหน้าทูน่า ที่ทำจากเตาอบไมโครเวฟ เป็นอาหารทานเล่น และม็อกเทลจากการผสมน้ำแอปเปิล และน้ำเลมอนโซดาเป็นเครื่องดื่ม โดยในระหว่างปาร์ตี้ วงออกัสก็เล่นเพลงดวงตะวัน ซิงเกิลเปิดอัลบั้มเรดิโอโดรม คลอไปด้วย[20]
วิชญ์วิสิฐรับงานแสดงทางโทรทัศน์ครั้งแรก โดยเป็นตัวละครชื่อ เตวิช ไหมแก้ว (ชื่อเล่น: เต้) ลูกชายวัยรุ่นของ อรละออ (แสดงโดย: ณหทัย พิจิตรา) พี่สาวต่างแม่ของ ชลธี (แสดงโดย: วรินทร ปัญหกาญจน์) ซึ่งแม่มักมีเหตุทะเลาะกับเขาอยู่เป็นประจำ ช่วงแรกของเรื่อง ได้รับการดูแลจาก คุณอาชลธี และคุณตาทวดมาริโอ ปีเปิล คอนเนลิโอ (แสดงโดย: อังเดร มาคิลเซน) อดีตมาเฟียชาวอิตาลีเป็นอย่างดี เขาจึงตอบแทนบุญคุณ ด้วยการอำนวยความสะดวก เมื่อทั้งสองต้องหนีออกจากบ้าน และคอยรายงานความเคลื่อนไหวที่บ้านให้รู้เป็นระยะ ในระหว่างที่คุณอาไม่อยู่
แต่ต่อมาถูกอรละออจับได้ว่าส่งข่าวให้ชลธี เตวิชจึงจำต้องหักหลังคุณตาทวดและคุณอา โดยรายงานเรื่องของชลธีให้กับคุณยายโรส (แสดงโดย: จารุณี สุขสวัสดิ์) และแม่แทน กระนั้นก็ดี เขายังได้กลับไปช่วยออกแบบร้านขายพิซซาของมาริโอ้และชลธี จนได้พบรักข้ามรุ่นกับจันทร์เจ้า (แสดงโดย: พิจิตตรา สิริเวชชพันธ์) เพื่อนชลธีและหุ้นส่วนร้านพิซซา โดยมีผู้กองชัชนินทร์ (แสดงโดย: วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย) เป็นคู่แข่งคนสำคัญ
แต่ในที่สุด จันทร์เจ้าก็เลือกคบกับชัชนินทร์ที่มีวัยใกล้เคียงกัน ทำให้เขาต้องอกหัก และประชดชีวิตโดยเปลี่ยนนิสัยเป็นเพลย์บอย ด้วยการออกเที่ยวเตร่ยามค่ำคืน และใช้ยาเสพติด จนกระทั่งคุณอาของเขา และ พจมาน กลมเกลี้ยง (ชื่อเล่น: หนูพุก; แสดงโดย: หยาดทิพย์ ราชปาล) น้องสาว (ลูกน้องชายพ่อ) ของจันทร์เจ้า คนรักของชลธี ต้องช่วยส่งตัวเข้ารับการบำบัด[21][22] ในละครเรื่อง สายสืบดิลิเวอรี่ ที่ออกอากาศทุกวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 20:30-22:30 น. ทางไทยทีวีสีช่อง 3 [23] ซึ่งเริ่มฉายตอนแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552[24] และอวสาน เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม ปีเดียวกัน[25]
พิธีกร
[แก้]วิชญ์วิสิฐรับงานเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “ไนน์ ณ สยาม” (อังกฤษ: 9@Siam) ซึ่งออกอากาศทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09:00-09:30 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ซึ่งบริษัท ครีเอทีฟ ไมนด์ จำกัด ร่วมผลิตกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด มีเนื้อหาเผยแพร่ความเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่าง ๆ ของวัยรุ่นในย่านสยามสแควร์ โดยเฉพาะศูนย์การค้าสยาม และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ และให้ความสำคัญกับสมาชิกกลุ่มเอสคลับ ของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนวิชญ์วิสิฐ ออกจากความเป็นพิธีกร และยุติรายการลงในที่สุด
แฟนคลับ
[แก้]เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 กลุ่มแฟนคลับของวิชญ์วิสิฐ ทำการเปิดเว็บบอร์ด วิชญ์วิสิฐดอตคอม ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อนับถึงวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 2,345 คน ส่วนตัววิชญ์วิสิฐเอง เป็นสมาชิกลำดับที่ 93 และตอบกระทู้ไปทั้งหมด 47 ข้อความ[26]
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน เว็บไซต์พิชชีคลับดอตคอม ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่สามารถเปิดให้บริการได้เพียงถึงวันที่ 21 พฤษภาคม รวมมีสมาชิกทั้งสิ้น 1,469 คน อัปเดตหน้าตาของเว็บบอร์ดไปทั้งหมด 5 ครั้ง[27] นอกจากนี้ ยังมีแฟนคลับของวิชญ์วิสิฐชาวจีน ได้เปิดเว็บไซต์พิชชี่ไชน่า โดยมีสมาชิกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ทว่าระยะต่อมา เมื่อเครือข่ายสังคมกลายเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยม กลุ่มแฟนคลับของวิชญ์วิสิฐแทบทั้งหมด ก็พากันเปลี่ยนแปลงสื่อกลางของตน โดยทยอยปิดตัวเว็บบอร์ดลง เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่าย ในการเช่าชื่อโดเมนสำหรับเข้าถึง โดยสำหรับแฟนคลับชาวไทย ย้ายมาเปิดใช้หน้าสำหรับแฟน (fanpage) ในเฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางใหม่ ส่วนแฟนคลับชาวจีน หันไปใช้ซินล่างเวย์ปั๋ว สื่อเครือข่ายสังคมของจีนเอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายชื่อผู้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2550 เก็บถาวร 2007-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550 จากเว็บไซต์ สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ↑ ลาก่อน: พิชญ์ โพธิ์คัณธา[ลิงก์เสีย] จากวิชญ์วิสิฐ's สเปศ[ลิงก์เสีย]
- ↑ 3.0 3.1 พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล จากกระปุกดอตคอม
- ↑ 4.0 4.1 รักแห่งสยาม - เกร็ดจากภาพยนตร์ จากสยามโซนดอตคอม
- ↑ สรุปผลรางวัล เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ ๕ จากเว็บบอร์ดเฉลิมไทย พันทิปดอตคอม
- ↑ ‘พิชญ์’ ไม่คิดตีเหล็กตอนร้อน ขอทุ่มให้ ‘รักแห่งสยาม’ ก่อน เก็บถาวร 2009-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
- ↑ "รัก 4 เรื่องจากบาแรมยู". นิตยสารสตาร์พิกส์ ฉบับที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 หน้า 30
- ↑ ฝัน-หวาน-อาย-จูบ จากเว็บไซต์ไทยซิเนมา
- ↑ "ข้อมูลภาพยนตร์ฝันหวานอายจูบจาก www.4romances.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-16. สืบค้นเมื่อ 2008-11-27.
- ↑ คลิปเครดิตท้ายภาพยนตร์เรื่องข้าวเหนียวหมูปิ้งพร้อมเพลงประกอบ ไม่เป็นไร (สมมุติว่า รีมิกซ์) จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ มิวสิกวิดีโอเพลง “หากเธอหมดรัก” จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ นักร้องน้องใหม่ ทำ ‘พิช’ แก้มช้ำ หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1,644 วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 หน้า 30
- ↑ [http://www.youtube.com/watch?v=p4ULVw9uvPA MV เพลง ปีก โดย พิช เพลงประกอบละครวารสารฯ51 Dear Passengers
- ↑ MV ผู้เป็นที่รัก ประกอบละครวารสารฯ53
- ↑ โดฟ ส่งโปรเจ็กต์ Better Morning Better Hair ข่าวจากเว็บไซต์อาร์วายที 9
- ↑ ภาพยนตร์โฆษณา มาม่าหมูสับ ชุด สามัคคี จากเว็บไซต์แอดอินเทรนด์
- ↑ พิช-วิชญ์วิสิฐ ในระเบิดเถิดเทิง ตอนที่ 1 และตอนที่ 3 จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ พิช-วิชญ์วิสิฐ ในระเบิดเถิดเทิง ตอนที่ 4 และตอนที่ 5 จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ วงออกัส ในสาระแน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 และตอนที่ 4 จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ พิช-วิชญ์วิสิฐ และวงออกัส ในครัวอินดี้ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 จากเว็บไซต์ยูทูบ
- ↑ สายสืบดิลิเวอรี่:นักแสดง จากเว็บไซต์สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท
- ↑ สายสืบดิลิเวอรี่:เรื่องย่อ จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ สายสืบดิลิเวอรี่:หน้าหลัก จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ สายสืบดิลิเวอรี่:เรื่องย่อประจำสัปดาห์ ตอนที่ 1 จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ สายสืบดิลิเวอรี่:เรื่องย่อประจำสัปดาห์ ตอนที่ 14 จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ นิตยสารออนไลน์ “จิสต์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เก็บถาวร 2008-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 จากเว็บไซต์วิชญ์วิสิฐดอตคอม
- ↑ พิชชีคลับดอตคอม. 2551. DVD Limited Edition for Pchy-Club Family. (ดีวีดี-รอม). สงขลา : พิชชีคลับดอตคอม.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]
|
|
- หน้ากำลังใช้แม่แบบ Lang-xx
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่กันยายน 2024
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2532
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักแสดงจากจังหวัดเชียงใหม่
- บุคคลจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นักแสดงไทยที่มีความหลากหลายทางเพศ
- นักพากย์ชาวไทย
- รักแห่งสยาม
- นักร้องชายชาวไทย
- คริสต์ศาสนิกชนชาวไทย
- นักแสดงชายชาวไทยในศตวรรษที่ 21