ข้ามไปเนื้อหา

ศิลาแลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การตัดอิฐจากศิลาแลง ในประเทศอินเดีย

ศิลาแลง หรือ แม่รัง เป็นวัสดุในธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็น หินตะกอนสีแดง ส้ม หรือน้ำตาลเข้ม มีรูพรุนทั่วไป นับเป็นวัสดุที่มีความสำคัญในการก่อสร้างในอดีต เนื่องจากมีความอ่อนนุ่มและมีความแข็งพอสมควร

ลักษณะทั่วไป

[แก้]

ศิลาแลงเป็นวัสดุที่ผ่านกระบวนการผุพังมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเป็นรูพรุนทั่วไป มีสีสนิมเหล็ก หรือสีอิฐ ส่วนประกอบสำคัญทางเคมีของศิลาแลง คือ ออกไซด์ของเหล็ก หรืออะลูมิเนียม โดยอาจมีแร่ควอตซ์และเคโอลิไนต์ปนอยู่ด้วย ส่วนธาตุที่เป็นด่างและซิลิเกตนั้นมีอยู่น้อยมาก หากมีสารประกอบเหล็กอยู่มากพอ ก็อาจนำไปใช้เป็นวัตถุดิบถลุงเอาเหล็กได้ หรือหากมีสารประกอบอะลูมิเนียมมากพอ ก็อาจนำไปถลุงเอาโลหะอะลูมิเนียมได้เช่นกัน

การเกิด

[แก้]

ศิลาแลงเกิดขึ้นได้ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกมาก แต่แล้งนานด้วย ในฤดูฝนน้ำใต้ดินมีระดับสูง ทำให้ท่วมตอนบนของชั้นดิน (ซึ่งต่อไปกลายเป็นศิลาแลง) ระหว่างนั้น น้ำฝนจะละลายเอาสารประกอบอะลูมิเนียมออกไซด์เอาไว้ เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำใต้ดินลดระดับต่ำลง ก็พาเอาสารประกอบอะลูมิเนียมลงไปสู่ที่ต่ำ เวลานานเข้า วัสดุบริเวณด้านบนจึงมีสารประกอบเหล็กออกไซด์มากขึ้น และมักรวมกันเป็นกลุ่ม จึงเกิดเป็นโพรงว่าง เป็นทางให้น้ำใต้ดินซึมขึ้นลงได้ง่ายขึ้น และชะสารประกอบอะลูมิเนียมออกไซด์ออกไปเร็วด้วย ทำให้ศิลาแลงมีลักษณะเด่น คือ มีรูพรุนทั่วไป และเนื้อเป็นสารประกอบเหล็กออกไซด์มากกว่าอะลูมิเนียมออกไซด์

ประเภทของศิลาแลง

[แก้]

ในประเทศไทยพบศิลาแลง 2 แบบ คือ

  1. แบบที่เชื่อมยึดตัวแน่น เป็นแผ่นต่อเนื่องเป็นพืด เรียกว่า "ศิลาแลง" หรือ "แม่รัง" นิยมตัดเป็นแท่งคล้ายอิฐ นำไปสร้างสิ่งก่อสร้าง กำแพง ปูทางเดิน และ
  2. แบบที่เกาะตัวกันหลวมๆ ลักษณะร่วน เรียกว่า "ลูกรัง" นิยมใช้อัดพื้นถนน เพราะเมื่อมีการบดอัด และได้รับความชื้นจากน้ำแล้ว จะจับตัวแน่นดีกว่าดิน หรือทรายธรรมดา

การขุดและตัด

[แก้]

การนำศิลาแลงมาใช้นั้น เป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากนัก เมื่อเปิดหน้าดินลงไปถึงตัวศิลาแลง จะพบเนื้อดินที่ไม่แข็งนัก ใช้ขวานหรือเหล็กสกัด หรือชะแลง เซาะร่องงัดออกมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ได้ แต่เมื่อยกขึ้นมาแล้วต้องรีบตัดแต่งให้เข้ารูปตามต้องการโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน มันจะแข็งตัวกว่าเดิมมาก เมื่อแต่งรูปเสร็จแล้ว วางทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ก็จะแข็งมาก สามารถนำไปก่อสร้างได้เหมือนอิฐ ศิลาแลงนี้สามารถพบได้ในโบราณสถานสมัยสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบได้ในโบราณสถานแห่งอื่นๆ เช่น เชียงแสน เชียงใหม่ กำแพงเพชร เป็นต้น

ปัจจุบันมีความนิยมนำศิลาแลงมาใช้ตกแต่งสวน เป็นหินปูพื้น ปูทางเดิน ก่อกำแพง และอาจใช้ก่อผนังอาคารบ้านเรือนได้เช่นกัน

อ้างอิง

[แก้]
  • พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2544 หน้า 199.