หมีกริซลี
หมีกริซลี | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Ursidae |
สกุล: | Ursus |
สปีชีส์: | U. arctos |
สปีชีส์ย่อย: | U. a. horribilis |
Trinomial name | |
Ursus arctos horribilis (Ord, 1815) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของหมีกริซลี |
หมีกริซลี (อังกฤษ: grizzly bear, ชื่อวิทยาศาสตร์: Ursus arctos horribilis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) จัดเป็นชนิดย่อยของหมีสีน้ำตาล (U. arctoc)
หมีกริซลีเป็นหนึ่งในชนิดหมีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน และถือว่าเป็นสัตว์ในอันดับสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เมื่อตัวผู้ที่มีขนาดโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักได้ถึง 180-980 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน และยืนด้วยสองขามีความสูงถึง 2.5 เมตร หรือ 3 เมตร[1]
ลักษณะ
[แก้]หมีกริซลี มีรูปร่างและสีขนทั่วไปเหมือนกับหมีสีน้ำตาลทั่วไป แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ หมีกริซลีจะมีขนาดรูปร่างและน้ำหนักใหญ่กว่ามาก มีส่วนจมูกและปากที่ยื่นแหลมออกมา และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากตรงบริเวณระหว่างหัวไหล่ของขาหน้าทั้ง 2 ข้าง ที่ปูดเป็นหนอกขึ้นมา ซึ่งไม่มีในหมีชนิดอื่น ๆ ซึ่งทำให้หมีกริซลีมีพละกำลังในการขุด, ตะปบ, ปีนป่าย และวิ่ง ซึ่งความเร็วในการวิ่งเร็วถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีเล็บนิ้วยาวและแข็งแรง แหลมคม ซึ่งมีความยาวพอ ๆ กับนิ้วมือมนุษย์
อาหาร
[แก้]หมีกริซลี สามารถกินได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืช, ผักผลไม้เป็นอาหาร เช่น ผลไม้จำพวกเบอร์รี แต่อาหารหลักของหมีกริซลีแล้วจะเป็นปลา
โดยจะลงไปจับในลำธารหรือน้ำตกขณะที่ปลาว่ายผ่าน เช่น ปลาแซลมอน, ปลาเทราต์ หรือปลาเบส แต่ก็สามารถฆ่าและล่าสัตว์ขนาดใหญ่เป็นอาหารได้ด้วย เช่น กวางมูส หรือแม้แต่กระทั่งมนุษย์
แหล่งอาศัย
[แก้]หมีกริซลี กระจายพันธุ์อยุ่ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือและอะแลสกา ความใหญ่โตของร่างกายขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ทำให้หมีกริซลีที่อยู่ในประเทศแคนาดาและอะแลสกาจะตัวใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีอาหารที่อุมสมบูรณ์กว่า แต่เมื่อถึงฤดูหนาวก็จะเข้าถ้ำเพื่อจำศีลเช่นเดียวกับหมีทั่วไป ขณะที่ตัวเมียที่ตั้งท้องจะให้กำเนิดลูกในช่วงนี้ ครั้งละไม่เกิน 3 ตัว โดยที่แม่หมีหรือหมีที่จำศีลจะไม่กินอาหารเลย แต่จะใช้พลังงานที่สะสมไว้จากอาหารที่กินเก็บไว้เผื่อก่อนเข้าสู่ฤดูกาลนี้ ซึ่งลูกหมีที่เกิดใหม่ จะมีความยาวราว 8 และไม่มีขนปกคลุมลำตัวเลย ยังไม่มีฟันและลืมตาไม่ได้ ใน 40 วันแรก ลูกหมีจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากดูดนมแม่และนอนซุกอยู่กับตัวแม่ และจะมีพัฒนาการขึ้นเรี่อย ๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี ลูกหมีจะมีน้ำหนักได้ประมาณ 50 ปอนด์ เมื่อโตได้ที่แล้ว แม่หมีจะพาลูก ๆ ออกจากถ้ำเพื่อหาอาหาร และสอนวิธีการดำรงชีวิตให้
โดยปกติแล้ว หมีกริซลีถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่สันโดษ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ หรือช่วงที่มีลูกอ่อน หรือในช่วงที่อาหารขาดแคลน ซึ่งหมีจะมีความดุร้ายมาก และบุกเข้าทำร้ายและฆ่าผู้รุกรานได้ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์[2] [3]
พันธุ์ผสม
[แก้]ที่เมืองคักโตวิก รัฐอะแลสกา หมีกริซลี มีรายงานว่าได้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับหมีขั้วโลก (U. maritimus) ด้วย ได้ลูกที่ออกมามีรูปร่างบึกบึนใหญ่โตและมีใบหูสามเหลี่ยมตั้งตรงอยู่ส่วนบนของหัวเหมือนหมีกริซลีย์ แต่ทว่ามีขนสีขาวเหมือนหมีขั้วโลก และมีลำตัวใหญ่โตกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมทั้งสองสายพันธุ์ ซึ่งหมีลูกผสมนี้มีชื่อเรียกว่า "ซูเปอร์แบร์" ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น เนื่องจากหมีจะเข้ามาหาอาหารถึงในตัวเมือง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อาหารขาดแคลน[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หน้า 124, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
- ↑ Grizzly Man ภาพยนตร์สารคดี โดย Timothy Treadwell (2005)
- ↑ Brown, Gary, The Great Bear Almanac. Lyons & Burford, Publishers (1993), ISBN 978-1-55821-474-3
- ↑ "TRACKING A SUPER BEAR". channel.nationalgeographic. สืบค้นเมื่อ July 4, 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ursus arctos horribilis ที่วิกิสปีชีส์