เมืองเถิน
เจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมือง แห่งเมืองเถิน | |
---|---|
ราชาธิปไตยในอดีต | |
| |
อิสริยยศ | เจ้าผู้ครองนครเมืองเถิน พระยาเมืองเถิน |
เถิน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เมืองเถินเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรทางตอนเหนือของประเทศไทย เช่น อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย เช่น อาณาจักรอยุธยา
โบราณสถานในเขตเมืองเถิน
[แก้]จากการสำรวจของภูเดช แสนสา เวียงโบราณของเมืองเถินมีทั้งหมด 4 เวียง คือ
- เวียงเถิน (เวียงป้อม) ตั้งอยู่บริเวณบ้านเวียงและบ้านสบคือ ต.ล้อมแรด มีผังเวียงคล้ายรูปหอยสังข์ ขนานตัวแนวเหนือ-ใต้กับแม่น้ำวัง ภายในมีวัดเวียงอยู่บริเวณทางตอนเหนือ มีพระธาตุวัดเวียงเป็นพระธาตุใจเมือง และวัดสบคืออยู่บริเวณกำแพงเวียงด้านใต้ เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองเถินมาตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปลงเมือง กำแพงเวียงเป็นกำแพงดิน 1 ชั้น คูน้ำ 1 ชั้น
- เวียงเป็ง ตั้งอยู่บริเวณบ้านเวียง (บ้านแพะเด่นปราสาท) ต.ล้อมแรด ห่างจากเวียงเถินทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 600 เมตร ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าสร้างขยายจากเวียงเถินในลักษณะเวียงแฝด สมัยพญาฝั้นเมืองเป็นเจ้าเมืองเถินประมาณ พ.ศ. 1992 กำแพงเวียงเป็นกำแพงดิน 1 ชั้น คูน้ำ 1 ชั้น
ชื่อเวียงป้อม เวียงเป็งมาจากชื่อนางป้อม นางเป็ง ธิดา 2 องค์ของพญาฝั้นเมือง (บางตำนานว่าเป็นนางรับใช้ธิดาเจ้าเมืองเถินที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบนี้) ปัจจุบันมีหอผีนางป้อม นางเป็ง เจ้าพ่อข้อมือเหล็กและบริวารบริเวณกำแพงเวียงเถินทางด้านทิศตะวันตก
- เวียงพญากัน (พญากั๋น) ตั้งอยู่บริเวณบ้านท่าหลวงกับบ้านสองแควปินหวาน ต.เถินบุรี ห่างจากเวียงเถินทางทิศใต้ประมาณ 11 กม. อยู่ริมแม่น้ำวังด้านทิศตะวันตก ผังเป็นรูปวงรียาวคล้ายปีกกาทอดตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อหนองหลวง สันนิษฐานว่าเป็นเวียงหน้าด่านรับศึกที่ยกมาจากสุโขทัยและเมืองตาก (แม่สลิด) กำแพงเวียงเป็นกำแพงดิน 1 ชั้น คูน้ำ 1 ชั้น มีประตูเวียงด้านทิศเหนือ 1 ประตู ปัจจุบันมีการตัดถนนสายเถิน-แม่พริกผ่าน ภายในเวียงมีซากวัดร้างหลายวัด เคยมีการขุดพบศิลาจารึกอักษรล้านนา เป็นเวียงหน้าด่านกั้นที่ราบทางทิศตะวันตก
เหตุที่ชื่อเวียงพญากัน มีตำนานว่า พญากัน เดิมชื่อพญาพรหมทัต เป็นชาวเชียงใหม่ ถูกส่งมาเป็นเจ้าเมืองเถินและรักษาเวียงพญากัน มีชายาชื่อแม่นางหลวงอุษา มีบุตรธิดาปรากฏ 3 องค์ คือ เจ้าอ้าย เจ้าศรีโวยลังกา แม่นางเที่ยง พญากันยังมีน้องชายชื่อเจ้าสิงห์คำ เมื่อทำศึกกับหัวเมืองทางใต้ (สุโขทัย, อยุธยา) พญาพรหมทัตสู้ไม่ได้จึงหนีไป แม่นางหลวงอุษาจึงปลอมเป็นชายนำทัพออกรบได้ชัยชนะ พญาพรหมทัตกลับเข้าเมืองเกิดความอับอายจึง กันคอ (กั๋นคอ) ตัดคอตนเองตายในเวียง จึงเรียกว่าพญากัน (พญากั๋น) และเวียงพญากัน ปัจจุบันมีหอผีพญากันกับบริวารนอกเมืองริมฝั่งแม่น้ำวังฝั่งตะวันตก บริเวณบ้านพ่ออ่าง ปินใจคำ บ้านท่าหลวง และบริเวณประตูเวียงพญากัน
- เวียงมอก ตั้งอยู่บ้านท่าเวียง ต.เวียงมอก ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคดโค้ง ทอดตัวเวียงในแนวเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากเวียงเถินลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 33 กม. ตั้งอยู่ริมห้วยแม่มอกด้านทิศตะวันออก ทำหน้าที่เป็นเวียงหน้าด่าน ขวางกั้นด้านทิศตะวันออกของลำห้วยแม่มอกเพื่อรับศึกทางเมืองศรีสัชนาลัย บางขลัง สุโขทัย กำแพงเวียงเป็นกำแพงดิน 1 ชั้นด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือใช้ห้วยแม่มอกเป็นปราการธรรมชาติ มีวัดท่าเวียงอยู่ด้านนอกกำแพงเวียงมอกด้านใต้ เป็นเวียงหน้าด่านกั้นที่ราบทางทิศตะวันตก[1]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ก่อนยุคล้านนา
[แก้]เมืองเถินตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งเถิน-แม่พริก เป็นที่ราบแคบ ๆ แนวเหนือใต้ อยู่ระหว่างทิวเขาดอยขุนตานด้านทิศตะวันตกกับทิวเขาขุนแม่มอกด้านทิศตะวันออก มีทิวเขาผีปันน้ำกลางกั้นระหว่างกลาง ทำให้มีที่ราบ 2 ส่วนคือ ที่ราบด้านตะวันตก เป็นที่ตั้งของ ต.แม่ถอด ต.ล้อมแรด ต.เถินบุรี ต.นาโป่ง ต.แม่ปะ ต.แม่วะ ในเขต อ.เถิน ต.แม่พริก ต.แม่ปุ ต.ผาปัง ต.พระบาทวังตวงในเขต อ.แม่พริก และที่ราบด้านตะวันออก เป็นที่ตั้งของ ต.แม่มอก และต.เวียงมอก ในเขต อ.เถิน เนื่องจากที่ราบด้านตะวันตกมีแม่น้ำวังและน้ำแม่พริกไหลผ่าน มีพื้นที่ราบกว้างขวาง ทำให้เป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองของเมืองเถินและมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหนาแน่นมากกว่าที่ราบขนาดเล็กด้านตะวันออก ซึ่งมีน้ำแม่มอกไหลผ่าน
เนื่องจากที่ราบในเขตอุตรดิตถ์และสุโขทัยติดต่อกับแอ่งเถิน-แม่พริก แอ่งเถิน-แม่พริกจึงเป็นกลายเทือกเขาสูงทางตอนใต้สุดของล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนที่มาบรรจบกับที่ราบภาคกลางตอนบนหรือภาคเหนือตอนล่างในเขต จ.สุโขทัย ด้วยภูมิศาสตร์ดังกล่าวเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมือง เมืองเถินจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองชุมทางการค้าและคมนาคมที่สำคัญ
ชุมชนดั้งเดิมในแอ่งเถิน-แม่พริกก่อนจะมีการตั้งเมืองเถินคือกลุ่มคนตระกูลมอญ-เขมร ที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ลัวะ” ในตำนานเมืองเถินกล่าวถึงทางตอนใต้ของแอ่งเถิน-แม่พริกมีหมู่บ้านใหม่บริเวณขุนห้วยแม่พริก (อยู่เขต อ.แม่พริก) รอยต่อระหว่างเถินกับลี้มีการตั้งถิ่นฐาน 7 ครัวเรือน ส่วนทางตอนเหนือบริเวณวัดพระธาตุดอยป่าตาลมี “พญายักษ์” 3 ตนเฝ้าบ่อแก้ว บ่อทองคำ บ่อเงิน ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนสัญลักษณ์แทนหัวหน้าลัวะ 3 กลุ่มที่ยังไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองเถิน ตำนานเมืองเถินยังกล่าวว่าทั้ง 3 เป็นสหายมีการติดต่อช่วยเหลือกัน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่ม แสดงถึงการมีความพร้อมระดับหนึ่งของชุมชนหลาย ๆ หมู่บ้านที่มารวมกันอยู่ และอาจมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มลัวะในลุ่มน้ำวังกับลุ่มน้ำปิง จึงได้พัฒนาขึ้นเป็นหน่วยการปกครองที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้นเป็นเมืองเถิน ในเวลาต่อมา
ภูเดช แสนสา สันนิษฐานว่าชื่อบ้านนามเมืองของเมืองเถิน มาจากชื่อของลำห้วยแม่เติน สาขาของแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญระหว่างกลุ่มคนทางตะวันตกเทือกเขากับฝั่งตะวันออก ภายหลังกลายเป็น “เถิน” ด้วยการออกเสียงเลื่อนไหลของคำที่คล้ายกัน เอกสารโบราณล้านนาปรากฏชื่อ เมืองเถิน สลับกับ เมืองเตริน (“ตร” ล้านนาออกเสียง “ถ”) บ่อยครั้ง เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพล พระภิกษุที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีจึงแปลงชื่อเมืองเถินเป็นภาษาบาลีคือ เมืองสังฆะเติน และ เมืองอิงฆปัฏฐรัฐฎ พร้อมแต่งตำนานอธิบายชื่อเมืองเถินว่าท้าวพญาผู้ครองเมืองให้พระสงฆ์เป็นผู้ช่วยว่ากล่าวตักเตือน จึงได้ชื่อว่าเมืองสังฆะเติน (สงฆ์เตือน) ต่อมากลายเป็นเมืองเถินต่อมา
ส่วนท้าวพระญาทังหลายฝูงอยู่ในเมืองที่นี้ เขาก็จักเอานักปราชญ์ผู้มีประหญาแลพระบาทพระธาตุอันตั้งที่ทั้งหลายฝูงนี้เปนที่เพิ่งแห่งเขาไปพายหน้า เขาเท่าจักเอาสังฆะตักเตินชู่อั้น พายหน้าเมืองอันนี้จักปรากฏได้ชื่อว่าสังฆะเติน มีหั้นชะแล
— ตำนานเมืองเถิน ฉบับวัดแม่วะหลวง
ในสมัยหริภุญชัย ได้เกิดการขยายตัวในแนวตะวันออกเข้าครอบคลุมลุ่มแม่น้ำวัง และมีการเคลื่อนย้ายติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนในหลายตำนานที่นิยมกล่าวถึงเรื่องพระนางจามเทวีเสด็จไปมาในที่ต่าง ๆ เช่นมีตำนานว่าพระนางจามเทวีเคยเสด็จมาปลูกต้นขนุนที่วัดเวียง เมืองเถิน ส่วนอีก 2 ต้นทรงปลูกที่วัดพระธาตุลำปางหลวงและพระธาตุดอยสุเทพ เมืองเถิน (เวียงป้อม) ยังมีผังเวียงเป็นรูปหอยสังข์คล้ายเมืองโบราณในอาณาจักรหริภุญชัย เมืองเถินจึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญชัย ดังปรากฏว่าเมื่อพญามังรายยกทัพมาตีหริภุญชัยและเขลางค์นครแล้ว ยังต้องเสด็จตีลงมายังเมืองเถินด้วย[2]
ยุคล้านนา
[แก้]เมื่อพญามังราย ปฐมกษัตริย์ล้านนา สามารถตีอาณาจักรหริภุญไชยได้ใน พ.ศ. 1824 ได้ยกทัพมาตีเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) และลงมาถึงเมืองเถิน เมืองเถินจึงได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนานับตั้งแต่นั้น และกลายเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของล้านนากับอาณาจักรสุโขทัยหรืออาณาจักรอยุธยาในเวลาต่อมา ควบคู่กับเมืองตาก แต่เมืองตากมักเปลี่ยนไปเป็นเมืองชายแดนของสุโขทัยหรืออยุธยาบ้าง กลับมาเป็นของล้านนาบ้าง ในสมัยพญาผายู เจ้ามหาพรหม โอรสของพระองค์ ยังได้ใช้เมืองเถินเป็นจุดหยุดพักแรมก่อนลงไปอยุธยา
พญาผายูก็แต่งหื้อเจ้ามหาพรหมลงไปเมืองเถิน ล่องลงไปเมืองอโยธิยา ได้พระเจ้าและอรหันตาขึ้นมาหั้นแล
— ตำนานมังราย เชียงใหม่ เชียงตุง
สมัยพญากือนา เมืองเถินปรากฏมีขุนนางตำแหน่ง นายช้างปากเถิน[4] (นายช่างปากเถิน) สันนิษฐานว่าเป็นตำแหน่งที่ดูแลด่านเมืองเถิน เมืองตาก เมืองเถินยังทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านสืบมา เมื่อพญาแสนเมืองมายกทัพไปช่วยสุโขทัยทำศึกกับอยุธยาแต่ถูกสุโขทัยโจมตีทัพแตก พญาแสนเมืองมาต้องหลบหนีมาทางแม่สลิด เมืองตากด้วยความช่วยเหลือของอ้ายออบและยี่ระ สันนิษฐานว่าคงจะเสด็จผ่านเมืองเถินเพื่อกลับคืนสู่เชียงใหม่
ในการทำสงครามระหว่างล้านนากับสุโขทัยหรืออยุธยา เมืองเถินจึงได้รับผลกระทบอยู่เสมอ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่ทรงพยายามขยายอำนาจลงไปยังศรีสัชนาลัย สุโขทัย ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวเมืองของอยุธยา ส่วนฝ่ายอยุธยาก็พยายามยกทัพขึ้นมาโจมตีหัวเมืองตอนใต้ของล้านนาเช่นกัน ใน พ.ศ. 1999 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา ได้แต่งทัพยกขึ้นมาตีเมืองลี้และเมืองเถิน (พระราชพงศาวดารชำระยุคหลังแก้เป็น เมืองศรีสพเถิน)
ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๙๙) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิ (ลี้) สบทีน (เถิน) ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน
— พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
พ.ศ. 2028 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา ส่งราชทูตมาเจรจาเจริญสัมพันธไมตรียังเมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้าติโลกราชไม่โปรดฯ ให้เข้าเฝ้า เมื่อกลุ่มราชทูตกลับ ได้ทรงให้เจ้าหมื่นด้ำพร้าอ้าย เจ้าเมืองนครลำปาง นำกำลังลงไปสังหารราชทูตทั้งหมด และให้พันหลวงตุมา หลานหมื่นด้ำพร้าอ้ายไปตรวจด่านเมืองเตริน (เถิน) และเกิดการปะทะกับฝ่ายอยุธยาขึ้น พระเจ้าติโลกราชสั่งให้หมื่นด้ำพร้าอ้ายไปช่วยพันหลวงตุมารบที่เมืองเถินจนฝ่ายอยุธยาแตกหนีไป
ปลีดับใส้นั้น พระญายัสสราชะใช้มาสืบไมตรี ราชทูต 1 อุปปทูต 1 มาแขก เจ้าพระญาติโลกราชะบ่หื้อคัล อยู่ 13 วันแขกลาเมือ หมื่นด้ำพร้าอ้ายอาณัตหื้อลูกบ่าวแห่งตนไพนั่งถ้าที่ท่าเรือ ครุบข้าแขกตายเสี้ยงหั้นแล พระเปนเจ้าซ้ำหื้อพันหลวงตุมา หลานหมื่นด้ำพร้าอ้ายไพเลียบด่านเตริน เขาไพขึ้นเอาลาน ชาวใต้มาเลียบด่านพบชาวเราอันขึ้นลาน ลวดรบกันที่นั้น พระเปนเจ้าซ้ำหื้อหมื่นอ้ายนคอรลงไพช่วยพันหลวงตุมารบชาวใต้ยังเมืองเตริน ชาวใต้จิ่งหักหนีไพหั้นแล
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ด้วยเมืองเถินเป็นเขตปลายแดนกันชนระหว่างล้านนากับอยุธยาที่ทำศึกสงครามมานาน บริเวณปลายเขตแดนระหว่างล้านนากับอยุธยา ด้านทิศใต้ห่างจากเวียงมอกประมาณ 24 กม. ยังมีการสร้างกำแพงอิฐอย่างมั่นคงแข็งแรงปิดกั้นระหว่างช่องเขา คนท้องถิ่นเรียก หอรบ อยู่บริเวณดอยหอรบ บ้านหอรบ ต.เวียงมอก เพื่อเป็นด่านระหว่างล้านนากับสุโขทัย อยุธยา สามารถเดินผ่านไปสู่บ้านแม่บ่อทอง ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัยได้ สมชาย เดือนเพ็ญ สันนิษฐานว่าเป็นด่านที่สร้างโดยฝ่ายอยุธยา เนื่องจากลักษณะการก่อสร้างมีเชิงเทินให้ทหารนายด่านตรวจตราบนช่องแอบมองอยู่ฝั่งบ้านแม่บ่อทอง มีคันแผ่นหินซ้อนเรียงกันเป็นป้อมค่ายโค้งออกมาทางด้านล้านนา สันนิษฐานว่าอาจสร้างในช่วงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหรือภายหลังเล็กน้อย[7] อีกจุดหนึ่งที่เคยเป็นที่ตั้งด่านพรมแดนระหว่างล้านนากับสุโขทัยหรืออยุธยาคือบริเวณบ้านท่าด่าน (บ้านหน้าด่าน) ต.แม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง เดิมอยู่ในอาณาเขตเมืองเถิน ห่างจากหอรบประมาณ 40 กิโลเมตร แต่เป็นที่ราบอยู่ติดแม่น้ำวังและน้ำแม่พริกมาสบกันด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จึงไม่มีการสร้างกำแพงขวางกั้นเหมือนหอรบ เขตพรมแดนของด่านทั้ง 2 นี้มีการเลื่อนไหลตลอดเวลา บางช่วงเขตเมืองเถินลงไปถึงหนองตึงหรือบ้านแม่สลิด บางช่วงถึงบ้านแม่พริก บางช่วงเลยด่านหอรบลงไปถึงห้วยแม่พันลำ บางช่วงถึงบ้านท่าเกวียน ด่านทั้ง 2 จุดนี้จึงเป็นเพียงที่ตั้งด่านตรวจผู้คนสัญจรข้ามฟาก ที่ตั้งรับศึกบางช่วง ไม่ได้ใช้เป็นหมุดหมายเส้นแบ่งเขตแดนอย่างแท้จริง[8]
เมืองเถินในยุคนี้ปกครองโดยเจ้าเมือง ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์ล้านนา บางช่วงเมืองเถินขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองยุคนี้ส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากเชียงใหม่โดยตรงและส่วนใหญ่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ เจ้าเมืองเถินมียศระดับหมื่น เป็นยศขุนนางระดับสูงรองงมาจากพญาและแสน เชื้อพระวงศ์จากเชียงใหม่ที่ส่งมาครองเมืองเถิน มักมาเป็นกลุ่มหรือครอบครัว ดังปรากฏในตำนานบอกเล่า เมื่อสิ้นชีวิตก็ได้รับการนับถือเป็นผีอารักษ์เมืองเถิน เข่น เจ้าตำหนัก เจ้าคำลือ เจ้าสุนันตา เจ้าศิริไชย เจ้านางจอมเทวี เจ้านางจันทเทวี บางช่วงเจ้าเมืองนครลำปางมีอำนาจเหนือเมืองเถิน เช่นสมัยเจ้าหาญแต่ท้องเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง ได้แต่งตั้งเจ้าฝั้นเมือง พระญาติของเจ้าหาญแต่ท้องมาเป็นเจ้าเมืองเถินใน พ.ศ. 1992 แต่เมื่อสิ้นเจ้าฝั้นเมืองแล้ว เมืองเถินก็กลับมาขึ้นกับเชียงใหม่ดังเดิม[9]
ด้วยความที่เมืองเถินเป็นหัวเมืองชายแดนอยู่ห่างไกลจากเมืองเชียงใหม่และอยู่ติดต่อกับแคว้นอื่น ๆ จึงมีการใช้หัวเมืองชายแดนเป็นแหล่งซ่องสุมเตรียมกองกำลังไพร่พลเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ ดังในสมัยพระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. 2088 กลุ่มเจ้าเมืองชายแดนคือ หมื่นเตริน เจ้าเมืองเตริน (เถิน) ผู้เป็นลูกพ่อท้าวเชียงคง (เจ้าสามเชียงคง) เจ้านายเมืองเชียงตุง และหมื่นเสิม เจ้าเมืองเสิม (อ.เสริมงาม จ.ลำปาง) ผู้เป็นลูกของแสนคราว ได้เข้าร่วมกับกลุ่มแสนคราวเป็นผู้นำในการปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แต่ภายหลังขุนนางกลุ่มเชียงแสนได้ยกทัพมากวาดล้องกลุ่มแสนคราว จับกลุ่มแสนคราว หมื่นเตริน ลูกหมื่นอ้ายพวกช้างหน่อคำ หมื่นเสิม ไปประหารชีวิต และเชิญพระนางจิรประภาเทวีขึ้นครองราชย์แทน
เถิงปลีดับใส้ สก ๙๐๗ ตัว เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะกะทำบุญ หื้อชาวเจ้าหนป่าแดงลงอุปสัมปทกัมม์ยังท่ามหาฐานแล้วเข้ามาทางปะตูหัวเวียง ยามพลาดลันฅ่ำ แสนคราวจำหื้อหมื่นเตรินลูกพ่อท้าวเชียงคง ๑ ลูกหมื่นอ้ายพวกช้างหน่อฅำ ๑ หมื่นเสิมลูกแสนคราว ๑ หื้อกะทำฆาตวินาสแก่เจ้าพระญาเชฏฐราชะพระเมืองเกสยังหัวข่วงเบื้องเหนือ แล้วเอาไพส่งสการยังวัดแสนพอก เอากระดูกไพจุยังวัดโลกโมฬีฝ่ายแจ่งหนเหนือทางนอกหั้นแล
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ยุคพม่า
[แก้]เมื่อล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าใน พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองทรงให้จัดทหารกระจายอยู่ประจำด่านชายแดนของล้านนาที่ติดต่อกับล้านช้าง เชียงรุ่ง อยุธยา เมืองเถินที่เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีการจัดทหารประจำการตามแนวด่านเข้มงวดมากขึ้น เมืองเถินมีความสำคัญต่อพม่า เพราะเป็นฐานที่มั่นปลายเขตแดนของพม่าในขณะนั้น และเป็นแหล่งเสบียงอาหารและกำลังไพร่พลสำหรับทำศึกอีกด้วย
ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ พระองค์ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่สิ้น คือประเทศเงี้ยว ประเทศลาวญวน (ยวน) เชียงใหม่ แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ยอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์เชียงใหม่แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม แล้วพระองค์ตรัสให้พลทหารรักษาอาณาเขตที่ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา เลียงเชียง เชียงยม (เชียงรุ่ง) มิให้เข้ามาย่ำยีได้
— มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า
เมืองเถินในช่วงต้นยุคล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า มีเจ้าเมืองที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือแม่ทัพนายทหารจากเชียงใหม่ บางช่วงได้รับการแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่ บางช่วงได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์พม่า สมัยนรทามางจอ พระเจ้าเชียงใหม่ ตั้งให้สะเรนันทสู ทหารพม่า มาเป็นเจ้าเมืองเตริน (เถิน) สะเรนันทสูได้คุมกองทัพเมืองเถินเข้าร่วมรบในศึกตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2128 และเสียชีวิตในสมรภูมิบ้านสระเกศ (ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง)[12]
เมื่อนรทามางจอยอมสวามิภักดิ์กับอยุธยา พ.ศ. 2143-2141 สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกทัพขึ้นมาระงับไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างนรทามางจอ พระเจ้าเชียงใหม่, พระยารามเดโช เจ้าเมืองเชียงแสน, เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ เจ้าเมืองน่าน และพญาฝาง ได้เสด็จมาประทับอยู่ท่าหอด ก่อนที่จะเสด็จมาประทับอยู่เมืองเถิน มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองล้านนาทั้งหลายมาเข้าเฝ้าที่เมืองเถิน แสนหลวงเมืองนาด, พญาฝาง, พระยารามเดโช เจ้าเมืองเชียงแสน, พญาพลศึกซ้าย อนุชาเจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ เจ้าเมืองน่าน, พญาแพร่, พระลวะ, พญาเชรียง (เทิง), พญาเชียงของ, พญาพะเยา, พญาพะยาก, พญาเมืองยอง และท้าวพระยาหัวเมืองทั้งหลายต่างมาเข้าเฝ้าและถวายเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองที่เมืองเถิน เว้นแต่นรทามางจอ พระเจ้าเชียงใหม่ที่ยังไม่ยอมลงมาแต่ให้ส่งบรรณาการลงมาถวายหลายครั้ง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเสด็จจากเมืองเถินมาประทับที่เมืองลำพูน นรทามางจอ พระเจ้าเชียงใหม่จึงยอมออกมาเข้าเฝ้า[13]
พ.ศ. 2157-2158 พระเจ้าอะเนาะเพะลูน กษัตริย์พม่า สามารถตีล้านนากลับมาเป็นของพม่าได้อีกครั้ง หลังจากนั้นทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์หรือนายทหารคนสำคัญคนหนึ่งจากเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกวีผู้ประพันธ์โคลงมังทรารบเชียงใหม่ ให้เป็นพญาเจ้าเมืองเถิน ภายหลังจากการอารักขาเจ้าหญิงเชียงใหม่ไปเมืองหงสาวดี ซึ่งพญาเจ้าเมืองเถินได้กล่าวในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ความว่า
มังทราปลงปลูกหื้อ | กินเถิน | |
เป็นพระยาเดียวเดิน | ด่านเฝ้า | |
หมี่ยินสว่างสวะเสิน | สักสิ่ง สังแล | |
บิดเบี่ยงเรียมร้างเจ้า | แม่ไว้วางหลัง ฯ | |
— โคลงมังทรารบเชียงใหม่ |
พญาเจ้าเมืองเถินยังได้กล่าวในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ถึงสภาพของเมืองเถินในยุคของท่าน และพรรณาคิดถึงคนรักที่เมืองเชียงใหม่ ความว่า
เมืองเถินมีที่หั้น | คูหา | |
จักบวชตนภาวนา | ลอบลี้ | |
ดงรีร่มรุกขา | ชลเชี่ยว งามเฮย | |
คึดถี่เถิงพระพรี้ | เล่าซ้ำเซาคระนิง ฯ |
ง่อมงันแคนค่ายเฝ้า | เมืองเถิน | |
สุดคึดที่ทางเมิน | รอดน้อง | |
เจ็บใจพี่เดียวเดิน | จมจว่าม ครานี | |
เต็มร่ำไรฟุมฟ้อง | หมี่ได้ใดมา ฯ |
ตักกสิลสังบ่ลุได้ | ดลเดิน | |
จักขี่ยนต์หงส์เหิน | เดี่ยวดั้น | |
เมื่อเอาแม่มาเถิน | เรียงร่วม รสเอย | |
คือดั่งสรีวิไชยอั้น | ลุน้องสมสงวน ฯ | |
— โคลงมังทรารบเชียงใหม่ |
พ.ศ. 2203-2204 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์อยุธยา ทรงยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ ทรงตั้งทัพหลวงอยู่เมืองพิษณุโลก ให้จัดกองทัพเป็น 5 ทัพ คือ ทัพพระยากลาโหม 5,000 นายเศษ ทัพพระยานครราชสีมา 2,000 นาย ทัพพระยายมราช 1,000 นาย ทัพพระยาราชบังสัน 3,000 นาย และทัพพระยาพิชัยสงคราม 500 นาย พร้อมด้วยปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างม้า เพื่อเตรียมบุกล้านนาตอนล่าง ความสำคัญของเมืองเถินและเมืองนครลำปางทำให้สมเด็จพระนารายณ์ต้องทำการตีเมืองเถินและเมืองนครลำปางเป็นอันดับแรกก่อนเข้าตีหัวเมืองอื่น ๆ ดังที่มีพระราชดำริว่า "...เมืองนครและเมืองเถินไซร้ขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่ จะไว้เมืองนครและเมืองเถินนั้นมิได้..." แต่เมื่อยกทัพไปถึง เช็กคายและแหงในนำครัวเมืองนครลำปางและเมืองเถินออกมาสวามิภักดิ์กองทัพอยุธยา เจ้าฟ้าลายข้า เจ้าฟ้าลำปางพาครัวบางส่วนหนีไปเมืองเชียงใหม่ กองทัพอยุธยาจึงส่งตัวเช็กคายและแหงในและครัวเมืองเถินเมืองนครลำปางมายังเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีตราตอบให้พระยากลาโหม พระยาศรีราชเดโช พระยาพิชัยสงครามอยู่รักษาเมืองนครลำปาง ให้ซ่องสุมชาวเมืองนครลำปางเมืองเถินและครัวอพยพกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม เมืองเถินจึงตกเป็นของอยุธยาในขณะนั้น จน พ.ศ. 2207 ล้านนาก็กลับไปเป็นประเทศราชของพม่าอีกครั้ง
เจ้าเมืองเถินในช่วงนี้มียศเป็นทั้งพญาและแสน บางช่วงสามารถสืบเชื้อสายการปกครองได้ในระดับหนึ่ง เช่น หมื่นด่านสุตตา (หมื่นด่านสุทธา) นายทหารรักษาด่านเมืองเถิน ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองเถิน มีบุตรที่ปรากฏ 3 คน คือ หมื่นด่าน หมื่นไชย (หมื่นด่านไชย) และครูบามหาเถรอาทิตย์ ภายหลังหมื่นด่านได้เป็นเจ้าเมืองเถินนาม หมื่นสุทินแก้วรอดคำ มีบุตรที่ปรากฏ 4 คน คือ แสนด่าน (ดูแลด่านเมืองเถิน) แสนชินาการ (ดูแลศาสนา) แสนมนตรี (ดูแลไพร่พล) แสนปง การบำรุงศาสนาในยุคพม่าก็ยังเป็นปกติเหมือนยุคล้านนา แม้จะเป็นเมืองหน้าด่านที่มีการศึกสงครามหลายครั้ง เช่นหมื่นด่านสุตตา เจ้าเมืองเถิน ครูบาอาทิตย์มหาเถระ สังฆราชาเมืองเถิน และครูบาจันทรังสีมหาเถระได้นำชาวเถินบูรณะพระธาตุม่อนงัวนอน วัดดอยป่าตาล ฯลฯ[16]
เมืองเถินในช่วงปลายยุคล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า ภายหลังจากยุคหมื่นสุทินแก้วรอดคำ (หมื่นด่าน) มีเจ้าเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการทหารเป็น เช็กคาย (พม่า: စစ်ကဲ; อักษรโรมัน: Sitke) คือปลัดทัพหรือผู้ช่วยแม่ทัพของพม่ามาปกครองโดยตรง ซึ่งเป็นได้ทั้งชาวพม่า ไทใหญ่ และล้านนา และมีผู้ช่วยปกครองทั้งชาวพม่าและชาวเถินหรือล้านนา ยังมีการส่งข้าหลวงพม่ามากำกับดูแลร่วมกับเจ้าเมืองเถินอีกด้วย[17]
ประมาณ พ.ศ. 2309-2311 พระเมืองไชย เจ้าเมืองลำพูนทำการต่อต้านพม่า เช็กคายสุริยะ เจ้าเมืองเถิน แสนสุทน เมงกองจ่อ นายน้อยชุมพู ยกทัพมาตั้งอยู่สบปราบ เจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้าฟ้าเมืองลำปาง ได้ให้เจ้ากาวิละ โอรสองค์โต นำกองทัพเมืองลำปางที่ประกอบด้วยชาวล้านนา ชาวไทใหญ่ ชาวพม่า ยกไปทางสบปราบและเข้าตีกองทัพเมืองเถินริมฝั่งแม่น้ำวัง กองทัพเมืองเถินแตก เช็กคายสุริยะ แสนสุทน เมงกองจ่อ นายน้อยชุมพูหนีไปอยู่เมืองลอง ภายหลังได้ยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้ากาวิละ เมื่อพระเจ้ากาวิละได้ครองเมืองลำปาง ก็ได้ตั้งให้นายน้อยชุมพูให้เป็นท้าวชุมพู มหาดเล็กของพระองค์ด้วย
ลูนนั้นเช็กคายสุริยะเมืองเถินกับแสนสุทน แลเมงกองจ่อ ทังนายน้อยชุมพู ยกขึ้นมาตั้งทับอยู่สบปาบ เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วจิ่งเกณฑ์เจ้ากาวิละตนเปนลูกอ้ายคุมริพลฅนทับไทเยี้ยวม่านลงไพเถิงสบปาบ ยามกลองงาย ค็ขับริพลเข้าแวดล้อมทับชาวเถินบ่ทันไฅว่ยังทางริมแม่น้ำวัง เช็กคายสุริยะ แสนสุทน เมงกองจ่อ นายน้อยชุมพู แตกตกน้ำแม่วัง พ่ายหนีไพหลบหลีกลี้อยู่แฅว่นเมืองลอง
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ยุคธนบุรี
[แก้]พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และเจ้ากาวิละได้ทำการต่อต้านพม่า และยอมสวามิภักดิ์กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละให้ท้าวชุมพูไปสังหารข้าหลวงพม่าที่กำกับเมืองเถิน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาประทับพักที่เมืองเถินก่อน แล้วแบ่งกองทัพไปตีเมืองลี้[19] เมื่อสามารถตีได้เมืองเชียงใหม่สำเร็จ กองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกลับทางด่านแม่พริก สร้างพระตำหนักพลับพลาพักแรมชั่วคราวริมแม่น้ำวังเมืองเถิน แล้วล่องแม่น้ำปิงที่เมืองตาก
เสด็จฯ ประทับแรมณพระตำหนักค่ายลำปาง ๒ เวน ๗ ๕๐ ครั้นรุ่งณวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๑๐ ค่ำ ยกจากลำปางมาประทับแรมห้วยน้ำต่ำ ครั้นรุ่งณวันศุกร เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ ยกจากห้วยน้ำต่ำมา ประทับแรมนายาง ครั้นรุ่งวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๑๒ ค่ำ เพลาบ่ายโมงเศษ เสด็จฯ มาถึงพระตำหนักที่ประทับท่าเรือเมืองเถิน นับระยะทางแต่เมืองเชียงใหม่มา ๔๒๑๔ เส้น วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ เพลาเช้า ยกจากเมืองเถิน เสด็จฯ โดยทางชลมารคมา ๒ เวน
— พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
[แก้]ในช่วงสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 สะโดศิริมหาอุจนา (Thado Thiri Maha Uzana) เจ้าเมืองตองอู (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก โป่พะครานมินคี) ยกทัพจำนวน 30,000 คน จากเมืองเชียงแสนเข้าล้อมเมืองนครลำปาง และทำการโจมตีเมืองตาก เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองน่าน และหัวเมืองฝ่ายเหนือ กองทัพพม่าสามารถจับตัวพระยามงคลวรยศ (เจ้าขนานจันทปโชติ) เจ้าเมืองน่าน, พระยาศรีสุริยวงษ์ (พระเมืองไชย) เจ้าเมืองแพร่, พญาเถินเฒ่า เจ้าเมืองเถิน, พระยาตาก เจ้าเมืองตาก และพระยาเชียงเงิน เจ้าเมืองเชียงเงิน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวต่างไปว่าเจ้าเมืองทั้งหมดยอมสวามิภักดิ์โดยไม่รบ พม่าจับตัวเจ้าเมืองและกวาดครัวเมืองทั้งหมดไปไว้ที่เมืองเชียงแสน ยกเว้นพระยาศรีสุริยวงษ์ (พระเมืองไชย) ที่ถูกส่งไปเมืองอังวะ[21] ชาวตาก ระแหง เชียงเงิน เมืองเถินที่เหลือรอดต่างหนีลงไปอยู่บ้านป้อม อยุธยา
พ.ศ. 2327 เจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (ขณะนั้นยังอยู่เวียงป่าซาง) ได้นำตัวพญามลา เจ้าฟ้าเมืองชวาด (Mongkyawt) ลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกราบทูลขอชาวเมืองตาก ระแหง เชียงเงิน เมืองเถิน ที่หนีสงครามมาอยู่บ้านป้อม อยุธยา กลับขึ้นไปอยู่บ้านเมืองตามเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ประทานให้ ทำให้ชาวเมืองตาก ระแหง เมืองเชียงเงิน เมืองเถินกลับมาฟื้นเมืองอีกครั้ง และอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเจ้ากาวิละ[22]
พ.ศ. 2329 พระเมืองไชย เจ้าเมืองแพร่ที่ถูกพม่าจับไป ร่วมมือกับเจ้าฟ้ากอง เจ้าฟ้าเมืองยอง (Mong Yawng) ต่อต้านพม่า และนำกองทัพเข้าตีเมืองเชียงแสนแตก[23] พอดีกับที่เจ้ากาวิละให้พระยาอุปราช (เจ้าน้อยธรรมลังกา) เจ้าคำมูล, เจ้าน้อยวอน และเจ้าน้อยกาวิละนำกำลัง 300 คนไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้านาขวา เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสนเพื่อขอให้ปล่อยตัวเจ้าเมืองที่ถูกจับมา ทำให้ได้ตัวพระเมืองไชย, พญาเถินเฒ่า และพระยาเชียงเงิน กลับคืนมาปกครองบ้านเมืองดังเดิม[24]
พ.ศ. 2333 เจ้ากาวิละเห็นว่าพระยาตากและพญาเถินเฒ่านั้นแก่ชราจนไม่สามารถทำราชการได้แล้ว จึงกราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขอเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองตากและเมืองเถินใหม่ สำหรับเมืองตาก เจ้ากาวิละขอให้ตั้งนายน้อยสุภากับนายน้อยชวนะ บุตรชายของพระยาตาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งนายน้อยสุภา เป็นพระยาอนุชิตชลธี เจ้าเมืองตาก นายน้อยชวนะ เป็นพระยาอินทคีรี ผู้ช่วยเจ้าเมืองตาก สำหรับเมืองเถิน เจ้ากาวิละขอให้ตั้งท้าวชุมพู มหาดเล็กของตน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวชุมพูเป็นพระยาจันทบุรี เจ้าเมืองเถิน
บ่เท่าแต่นั้น พระเปนเจ้ากราบทูลพระมหากระสัตรเจ้าว่า ดั่งเมืองเถิน ค็หาผู้จักเปนผู้ใหย่คึดราชชการบ้านเมืองเมืองบ่ได้ พระญาเถินเซิ่งม่านจับยับได้ไพ ค็ไพติดตามเอาได้ฅืนมา ค็เปนอันเถ้าแก่ชราคึดราชการไพบ่รอดแล้ว ขอรับประทานตั้งขึ้นใหม่ กราบทูลฉันนี้ พระมหากระสัตรเจ้าจิ่งตรัสถามว่า เจ้าเชียงใหม่เพิงใจฅนใดเล่า สมควรจักหื้อเปนพระญาเถิน พระเปนเจ้าค็มาเลงหันท้าวชุมพู อันเปนมหาดเล็กป่ำเรินตน เปนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ อัน ๑ ค็เปนชาติเชื้อชาวเถิน พระเปนเจ้ากราบทูลว่า ท้าวชุมพูสมควรเปนพระญาเถิน ว่าฉันนั้น พระมหากระสัตรเจ้าค็ประทานชุบเลี้ยงตั้งท้าวชุมพูขึ้นเปนพระญาจันทปุรีพระญาเถิน แล้วค็ประทานเครื่องยสตามหัวเมืองใหย่เมืองน้อย แล้วค็อั้บเวนหื้อเปนเมืองขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ เมืองระแหง เมืองเถิน ถ้าจักมีราชการประการใดหื้อฟังบังคับบัญชาเจ้าเชียงใหม่ ว่าอั้นนั้น
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
สันนิษฐานว่าพระยาจันทบุรี (เจ้าน้อยชุมพู) คงจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกลุ่มอำนาจเก่าคือพญาเถินเฒ่า จึงไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้านหรือคัดค้านจากกลุ่มผู้ปกครองเดิม พระยาจันทบุรี (เจ้าน้อยชุมพู) ได้เป็นต้นสกุลวงศ์เจ้าเมืองเถินสืบมาจนกระทั่งเลิกการปกครองแบบประเทศราช พระยาจันทบุรีได้ย้ายเมืองเถินมาอยู่บริเวณบ้านเวียง ต.ล้อมแรด
เมืองเถินในยุคนี้มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากสยามมองว่าเมืองเถินเป็นหัวเมืองในพระราชอาณาเขตสยาม แต่จากรูปแบบการปกครองและมุมมองของเมืองเถินกับล้านนา เมืองเถินมีลักษณะเป็นหัวเมืองกึ่งประเทศราชของสยาม ที่มีเจ้าเมืองเป็นชาวล้านนาสืบเชื้อสายปกครอง มีระบบโครงสร้างและตำแหน่งการปกครองเหมือนหัวเมืองประเทศราชล้านนา มีอำนาจการตัดสินใจภายในสูง มีการคัดเลือกเจ้าเมืองและเจ้านายขึ้นดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ผลประโยชน์ที่จัดเก็บเป็นของเจ้าเมืองและภายในบ้านเมือง มีอำนาจตัดสินคดีความต่าง ๆ ในบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง
ฝ่ายสยามถือว่าเมืองเถินเป็นเมืองหน้าด่านด้านใต้ของสยาม ดัง พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต ให้เว้นเมืองหน้าด่าน 9 เมืองทั้งเมืองเถิน เมืองตาก เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง ไม่ต้องโกนผมไว้ทุกข์ นอกนั้นชาวเมืองต้องโกนผมไว้ทุกข์ เว้นประเทศราชที่ไม่ต้องโกน ส่วนฝ่ายล้านนาถือว่าเมืองเถินเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของประเทศราชล้านนากับสยาม ดังจารึกท้ายใบลานฉัฏฐีนิกาย วัดศรีทรายมูล เชียงใหม่ พ.ศ. 2342 ความว่า “...ข้าส้างเขียนปางเมื่อสถิตสำราญอยู่วัดนาเบี้ย เมืองถืน (เถิน) ด่านใต้แฅว้นอโยธิยาวันนั้นแล...”[26]
เมืองเถินได้กลายเป็นชุมทางการคมนาคม เส้นทางการค้า เส้นทางรบ เมื่อกองทัพสยามขึ้นมาทำสงครามกับพม่าในล้านนาก็มักใช้เมืองเถินเป็นแหล่งบัญชาการรบ เช่น พ.ศ. 2345 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพในสงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2345 เมื่อเสด็จถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว พระอาการมากมีพิษร้อนต้องแช่อยู่ในสาคร จึงต้องบัญชาการทัพอยู่ที่เมืองเถิน[27] หรือเมื่อเจ้าผู้ครองนครเจ้านายล้านนาจะลงไปเฝ้ากษัตริย์สยาม ก็มักจะแวะพักที่เมืองเถินก่อนทั้งขาล่องขากลับ ใน พ.ศ. 2358 พระเจ้ากาวิละให้เจ้าน้อยมหาสุริยวังสะ โอรส นำครัวชาวมอญลงไปถวายกษัตริย์สยาม แต่ไปสิ้นชีพที่เมืองตาก พระเจ้ากาวิละให้นำศพบรรจุในโลงต่างบนหลังช้างมาส่งสการศพที่เมืองเถิน[28] เมื่อเจ้านายขุนนางข้าหลวงจากสยามขึ้นมาล้านนาก็แวะพักที่เมืองเถินเช่นกัน ใน พ.ศ. 2427 กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษเสด็จขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่ ได้แวะพักที่เมืองเถิน 3 วันก่อนเดินทางไปเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองนครเชียงใหม่[29]
ด้วยเมืองเถินกับเมืองตากเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างพรมแดน เส้นแบ่งเขตแดนในอดีตเปลี่ยนแปลงเสมอ จึงเกิดปัญหาเรื่องเขตแดนและชาวเมืองระหว่างเมืองเถินกับเมืองตากบ่อยครั้ง เช่น เจ้าเมืองตากกับเจ้าเมืองเถินแย่งชิงพื้นที่บ้านแม่พริก (บ้านแม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่เป็นผู้ตัดสิน ให้บ้านแม่พริกเป็นของเมืองตาก หรือกรณีแย่งตัวนายตุ้ย คนเมืองลำปางเป็นเขยสู่บ้านแม่พริก พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่เรียกพระสถลบุรินทร เจ้าเมืองเถินมาชำระว่ากล่าวตัดสิน สุดท้ายให้พระสถลบุรินทรคืนคนและทรัพย์สินที่ริบให้กับเจ้าเมืองตาก[30] เป็นหลักฐานว่าทางสยามยังให้เจ้านครเชียงใหม่มีอำนาจเหนือเมืองเถินและเมืองตากตามจารีตเดิม แม้ว่าจะถูกปรับเป็นหัวเมืองของสยามแล้วก็ตาม
เมืองเถินมีพันธะต้องจัดส่งส่วยไม้ขอนสักจากป่าแม่ขยายลงไปถวายให้สยามปีละ 20 ต้น[31] และส่วยสิ่งของอื่น ๆ เช่น ยางรัก ขี้ผึ้ง งาช้าง เขาสัตว์ แต่ไม่มีการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเหมือนเมืองประเทศราช และมีส่วยข้าวที่ต้องจัดส่งถวายเจ้านครเชียงใหม่ทุกปี[32] เมืองเถินยังเป็นแหล่งเตรียมเสบียงอาหารด้วย ใน พ.ศ. 2328 ได้มีการเกณฑ์ข้าวจากเมืองเถินและบ้านระแหงส่งเป็นเสบียงกองทัพสำหรับรบพม่าจำนวน 2,000 หาบ[33] เมืองเถินยังต้องส่งกำลังช่วยสยามและเชียงใหม่เวลาทำศึก เช่น พ.ศ. 2395 พระไชยราชาเมืองเถินเป็นแม่ทัพ คุมกองกำลังเมืองเถิน 80 คนเข้าร่วมสงครามเชียงตุง[34] พ.ศ. 2427 พระราชวงศ์เมืองเถินขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่รักษาเมืองเชียงแสนที่ตั้งขึ้นใหม่ และส่งไพร่พลไปสืบข่าวที่เมืองเลน[35] แต่นอกจากร่วมสงครามเพื่อแสดงความภักดีแล้ว ยังเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของเมืองเถินเองอีกด้วย เช่น ในสงครามเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2370 พระเถินบุรี เจ้าเมืองเถิน คุมไพร่พล 150 คนไปช่วยแต่ล่าช้าไป 2 เดือน ทำให้พระเถินบุรีถูกเฆี่ยน 30 ที แต่พระเถินบุรีรับสารภาพจะช่วยเต็มที่จึงลดเหลือเฆี่ยน 10 ที ฝ่ายล้านนาได้ช่วยสยามทำศึกและกวาดต้อนเชลยชาวลาวมาไว้บ้านเมืองของตน พระวังซ้าย ท้าวบังวัน ท้าวผาแสน ขุนนางเมืองแพร่ พระยาชมพู (เจ้าน้อยจิตวงศ์) เจ้าหนานอุตมะ ขุนนางเมืองนครลำปาง พญาพาน ขุนนางเมืองนครเชียงใหม่ แสนปัญญา ขุนนางเมืองเถิน ร่วมกันกวาดต้อนเอาครัวลาวบ้านขะมิน บ้านภูประสาท บ้านเมียง บ้านท่าลี บ้านนาเปือก จำนวน 600 คน ช้าง 50 เชือก และกวาดต้อนครัวเมืองด่านซ้าย จนเกิดการแย่งชิงเชลยศึก สยามส่งหลวงมหาดไทยเมืองพิไชย แสนไชยวงศ์บุตรพระยาตากไปว่ากล่าวให้คืนครัว แต่ไม่ยอมคืน จนพระยาเพชรพิชัยเรียกเจ้านายประเทศราชมาพูดคุยจึงยอมคืนให้สยาม แสนปัญญา ขุนนางเมืองเถินถูกลงโทษเฆี่ยน 50 ที ภายหลังลดเหลือ 20 ที[36]
พ.ศ. 2424 คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสำรวจในสยาม วันที่ 22 ธันวาคม ถึงเมืองเถิน คาร์ล บ็อคได้กล่าวถึงเมืองเถินในบันทึกว่า
เราไม่พบผู้คนสักคนเดียวในระหว่างทางเป็นเวลา 5 วัน แต่ตอนบ่ายวันที่ 22 ธันวาคม เราข้ามแม่น้ำวังซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำปิงและถึงเมืองเถิน (Muang Tunn ฉบับแปลไทยแปลผิดเป็นเมืองตุ่น) เมืองนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ มีพลเมืองประมาณ 1,000 คน ไม่นับผู้หญิงและเด็ก ซึ่งทางราชการไม่นับว่ามีความสำคัญพอที่จะรวมเข้ากับจำนวนพลเมืองที่ทางราชการต้องการ ถึงแม้จะอยู่ในเขตแดนของภาคกลางห่างจากเมืองระแหงตามเส้นทางโดยตรงประมาณ 60 ไมล์ เมืองนี้ก็เป็นที่อยู่ของชาวเหนือทั้งหมด ไม่มีคนไทยอยู่ที่นี่สักคนเดียว บริเวณใกล้ ๆ กับตัวเมืองมีการปลูกยาสูบกันมาก และมักจะปลูกกันตามสองฝั่งน้ำในระหว่างฤดูแล้ง ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ มีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao
ยุคปฏิรูปการปกครอง
[แก้]ในช่วงหลังเมืองเถินย้ายมาเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับสยาม สยามมีอำนาจควบคุมเมืองเถินได้เต็มที่ พร้อมกับพยายามให้เมืองเถินเป็นหัวเมืองในพระราชอาณาเขต ไม่ใช่หัวเมืองประเทศราช และช่วงนี้เมืองเถินอยู่ชั้นในไม่ติดชายแดนเหมือนเมืองตาก ประชากรของเมืองเถินมีจำนวนน้อยและไม่ค่อยหลากหลายกลุ่มชาติพันธ์ เมืองเถินจึงถูกลดความสำคัญลง ยศเจ้าเมืองเถินตั้งแต่หลังพระยาจันทบุรี (เจ้าน้อยชุมพู) เป็นต้นมาถูกลดลงเป็นพระ[38]
เมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง ใช้ระบบมณฑลเทศาภิบาล มีการโยกย้ายให้เมืองเถินขึ้นกับมณฑลลาวเฉียงที่เมืองนครเชียงใหม่ จัดส่งชาวสยามหรือเจ้านายมาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเถิน คือขุนสุภาภาร ใน พ.ศ. 2438 พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ส่งนายอยู่มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเถิน[39] คนต่อมาคือพระยาอุปราชเมืองแพร่ (เจ้าหัวหน้า) และคนต่อมาคือหลวงประสงค์เกษมราษฎร์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น พ.ศ. 2427 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงมีรับสั่งให้พระสถลบุรินทร (เจ้าน้อยขัติยะ) เจ้าเมืองเถิน ทำเสาโทรเลขทางหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองเชียงใหม่ พร้อมตั้งสำนักงานโทรเลขเมืองเถินริมแม่น้ำวัง[40] ยุคนี้เมืองเถินอยู่บริเวณบ้านล้อมแรด ต.ล้อมแรด ซึ่งย้ายมาตั้งแต่สมัยพระสถลบุรินทร (เจ้าหนานจันทร์คำ)
ชาวเมืองเถินเดิมเป็นชาวล้านนาจึงถูกจัดให้รวมอยู่ในมณฑลลาวเฉียง ทำให้เจ้านายเมืองเถิน ชาวเมืองเถิน และข้าราชการสยามมีความรู้สึกว่าเมืองเถินเป็นประเทศราชล้านนามากขึ้น พ.ศ. 2434 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ส่งใบบอกมายังพระยาไกรโกษา (เทศ ภูมิรัตน์) ข้าหลวงมณฑลลาวเฉียง และพระเมืองไชยราชา (เจ้าหนานอินทรศ) เจ้าเมืองเถิน ให้ทราบว่าเมืองเถินเป็นหัวเมืองชั้นในของสยาม ไม่ใช่เมืองประเทศราช และยกเลิกคำสั่งให้เมืองเถินขึ้นกับมณฑลลาวเฉียงในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2434 และวางแผนย้ายเมืองเถินมาขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์เหมือนเมืองตาก แต่ไม่ได้ทำตามแผนที่วาง เมืองเถินจึงแยกมาเป็นอีกบริเวณเฉพาะในเวลาต่อมา ยุคนี้เมืองเถินอยู่บริเวณบ้านท่าหลวง ต.เถินบุรี
ถึงพระยาไกรโกษาแลผู้ว่าราชการเมืองเถิน ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการให้เมืองเถินรวมขึ้นอยู่ในข้าหลวงเมืองลาวเฉียง ตั้งแต่นั้นต่อมาข้าหลวงเมืองลาวเฉียงแลเมืองเถินก็เข้าใจแลถือว่าเป็นเมืองชั้นนอกคล้ายประเทศราชมากกว่าเป็นหัวเมืองชั้นใน แลความรู้สึกของราษฎรในเมืองเถินก็เป็นอยู่เช่นนี้ การแก้ไขการที่เข้าใจผิดนี้ควรชี้แจ้งไปยังข้าหลวงเมืองลาวเฉียงแลเมืองเถิน ล้างคำสั่งในตราฉบับที่ ๙/๒๐๒ ให้เข้าใจว่าเป็นเมืองชั้นในแท้ ควรยกเมืองเถินมาเป็นเมืองชั้นในข้าหลวงเทศามณฑลนครสวรรคเสีย เพราะเป็นเมืองใกล้ชิดกับเมืองตากกว่าเชียงใหม่มาก
พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จะให้เมืองเถินกลับไปรวมกับข้าหลวงมณฑลลาวเฉียงที่เมืองนครเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อสะดวกในการปกครอง แต่กลัวจะคล้ายกับกรณีเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐของกัมพูชา
เมืองเถินนี้น่าจะรวมกับข้าหลวงลาวเฉียงเสียจริง ๆ ได้นึกหลายหนแล้ว แต่ไปตะขิดตะขวงเรื่องกลัวจะเป็นพระตะบอง เสียมราฐ ของเมืองเชียงใหม่ การที่ส่งไปนี้ควรแล้ว แต่ต้องระวังแผลนี้ไว้ให้ดี นึกยังไม่ปลอดโปร่ง
ภายหลังจากโปรดเกล้าฯ ให้เมืองเถินกลับไปขึ้นกับมณฑลลาวเฉียงเป็นครั้งที่ 2 ก็ยังเกิดกรณีเดิมเหมือนครั้งแรก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัววางแผนจะยกเมืองเถินไปขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ใน พ.ศ. 2439 อีกครั้ง และทรงย้ำสิทธิธรรมของสยามเหนือเมืองเถินว่า
เมืองเถินเป็นเมืองที่ขาดมาเป็นของไทยแต่โบราณ เมื่อเชียงใหม่ไม่ได้ขึ้นกรุงเทพ ถ้าเวลาใดลาว (ล้านนา) แขงแรงได้เมืองเถินไป ฝ่ายเราก็ค่อยแย่งกลับ เป็นเมืองพระตบอง เสียมราฐข้างลาว (ล้านนา) เพราะฉะนั้นจึงไม่ยอมปล่อย
พ.ศ. 2442 รัฐบาลสยามจัดการปกครองมณฑลพายัพ ประเทศราชล้านนา 5 หัวเมืองกลายเป็นหัวเมือง (จังหวัด) หัวเมืองขึ้นทั้งหลายถูกยุบรวมหรือแบ่งเป็นแขวง (อำเภอ) หรือแคว้น (ตำบล) เจ้าผู้ครองนครไม่มีอำนาจปกครองตนเองอีกต่อไป เมืองเถินถูกจัดเป็น 1 ใน 6 หัวเมือง พระเมืองไชยราชา (เจ้าหนานอินทรศ) เจ้าเมืองเถิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองเถินบุรี พ.ศ. 2443 หลวงประสงค์เกษมราษฎร์ ข้าหลวงประจำเมืองเถิน ให้เจ้าหนานมหาไชย นายแขวงเมืองเถิน ออกแต่งตั้งนายแคว้น (กำนัน) แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ในเมืองเถิน มีนายแคว้นทั้งหมด 25 คน แก่บ้าน 235 คน สำรวจสำมโนประชากรเมืองเถินมี 2,891 หลังคาเรือน 15,992 คน[44] ส่วนเมืองปวง เมืองขึ้นของเมืองเถิน ถูกยุบเป็นแคว้นเมืองปวง รวมกับแคว้นเมืองลี้ แคว้นไม้ตะเคียนปม แคว้นทุ่งหัวช้าง จัดเป็นแขวงเมืองลี้ ขึ้นกับเมืองนครลำพูน[45]
พ.ศ. 2445 เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ทำการต่อต้านอำนาจของสยาม ซึ่งได้กระจายขยายไปหลายส่วน กองกำลังกบฏเงี้ยวในเมืองเถินตั้งอยู่บริเวณวัดเวียง ยกไปตีสบปราบแตก แต่ภายหลังรัฐบาลสยามสามารถปราบปรามกบฏเงี้ยวได้[46] ในปีต่อมารัฐบาลได้ยกเว้นเงินแทนเกณฑ์ 4 บาท (ภาษี 4 บาท) ให้เมืองเถิน และยกเว้นเก็บค่านา 1 ปี เพื่อผูกจิตใจชาวเมืองเถินไว้[47][48] และมีการแบ่งพื้นที่ตอนใต้ของแขวงเมืองเถินเป็นกิ่งแขวงแม่พริก ตั้งเจ้าแก้ว ณ ลำปาง เป็นปลัดกิ่งแขวงแม่พริก
เมืองเถินถูกจัดเป็นหนึ่งใน 6 หัวเมือง คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เถิน อยู่ในมณฑลพายัพ จน พ.ศ. 2448 ได้ยุบบริเวณเมืองเถินบุรี คงไว้แต่แขวงเมืองเถิน โอนย้ายแขวงเมืองเถินและกิ่งแขวงแม่พริกไปขึ้นกับเมืองนครลำปาง[49] วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2458 ได้แยกเมืองลำปาง (รวมแขวงเมืองเถิน) เมืองแพร่ เมืองน่าน ตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ แต่ใน พ.ศ. 2469 ยุบมณฑลมหาราษฎร์เข้ากับมณฑลพายัพเนื่องจากรัฐบาลขาดงบประมาณ
พ.ศ. 2470 ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอที่มีคำว่าเมืองและแม่ นอกจากจำเป็นเท่านั้น แขวงเมืองเถินบุรี เปลี่ยนเป็น อำเภอเถิน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปีถัดมาได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล เหลือเพียงจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน[50]
การปกครอง
[แก้]เมืองเถินในยุคสกุลวงศ์พระยาจันทบุรี (เจ้าน้อยชุมพู) มีหัวเมืองขึ้นเมืองเถิน 1 เมือง คือเมืองปวง (ต.บ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน) ดังปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่า
๏ เมืองปวงขึ้นเถินอยู่ดอน ๑ เมืองเถิน เจ้าเมืองชื่อพระยาเถินบุรี ขึ้นกรมมหาดไทย
เมืองเถินมีศักดิ์เป็นหัวเมืองระดับที่ 3 เจ้านายผู้ปกครองเมืองเถินระดับสูงมี 5 ตำแหน่ง เรียกเจ้าขัน 5 ใบ แต่มียศแบบสยามเป็นพระ แต่ล้านนาถือว่าเป็นเจ้า ภายในจึงเรียกผสมว่าเจ้าพระ มีดังนี้
- พระเถินบุรี พระเถินบุรินทร พระสถลบุรินทร พระเมืองเถิน เป็นตำแหน่งของเจ้าเมืองเถิน ภายในเรียกลำลองว่าพ่อเจ้าหลวง หรือเจ้าหลวงเมืองเถิน บางครั้งชาวเมืองก็เรียกว่า เจ้าฟ้าสถล เนื่องจากมีชาวไทใหญ่และพม่าเข้ามาอยู่ในเมืองเถิน จึงนำคำเรียกเจ้าฟ้าในรัฐฉานมาใช้กับเจ้าเมืองเถินด้วย ในหลักฐานพับสาที่เจ้าเมืองเถินถวายวัดล้อมแรด พ.ศ. 2357 ออกนามของตนว่า มหาอุปราชเจ้าพ่อหลวงเมืองเถิน เนื่องจากเมืองเถินมีสถานะรองลงมาจากเจ้าหลวงในเมืองประเทศราชล้านนาทั้ง 5 จึงใช้นามว่า มหาอุปราชเจ้าหลวง
- พระไชยราชา (เจ้าหอหน้า)
- พระราชวงศ์
- พระบุรีรัตน์ พระเมืองแก้ว (เจ้าหอหลัง)
- พระราชบุตร
ตำแหน่งเจ้านายระดับรองของเมืองเถิน มียศตามแบบสยามเป็นพระหรือหลวง จากการสำรวจของภูเดช แสนสา เท่าที่ปรากฏหลักฐานมี
- พระราชสัมพันธวงศ์
- พระสุริยวงศ์ (พระสุริยะ)
- พระอุตรการโกศล (พระอุตรการ)
- หลวงไชยสงคราม
- พระเมืองไชย
- พระเมืองราชา
- พระเมืองแก่น
- พระอินทราชา
- พระสิงขรราชธานี
- พระคำลือ
- หลวงพรหมสงคราม
กลุ่มขุนนางเค้าสนามของเมืองเถิน ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองเถิน มีจำนวน 12 ตำแหน่ง ผู้ได้รับตำแหน่งขุนนางอาจมีเชื้อสายเจ้านาย เชื้อสายขุนนาง หรือสามัญชนทั่วไปที่มีความสามารถ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพญาพื้นทั้ง 4 หรือ พ่อเมืองทั้ง 4 เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มียศเป็นเจ้าพญา พญาหลวง หรือพญา และกลุ่มขุนเมืองทั้ง 8 มีจำนวน 8 ตำแหน่ง เรียงลำดับตั้งแต่ พญา อาชญา แสนหลวง แสน ท้าว หาญ หมื่นหลวง หมื่น เช่น แสนปัญญา แสนไชยอาสา แสนศรี ท้าวอินทราชา ฯลฯ ระยะแรกยังมีตำแหน่งที่สืบทอดมาจากยุคพม่า เช่นตำแหน่งหัวสิบ คือหัวสิบคำหน้อย แต่ภายหลังไม่ปรากฏตำแหน่งนี้อีก กลุ่มขุนเมืองทั้ง 8 สามารถเป็นได้ทั้งชาวล้านนา ชาวพม่า หรือชาวไทใหญ่ เช่นนายช่างไทใหญ่ก่อสร้างฝีมือดี ได้รับตำแหน่งจากเจ้าเมืองเถินเป็นแสนวิชา ใน พ.ศ. 2426 ได้เป็นนายช่างร่วมกับพ่อหนานขัดสร้างวิหารวัดเหล่าหลวง
นอกจากนี้ยังมีขุนนางนอกเค้าสนามอีก คือ กลุ่มขุนนางในเมืองปวง ซึ่งขึ้นกับเมืองเถิน พ่อแคว้น แก่บ้าน ขุนนางหน้าที่พิเศษ[52]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ ทิว วิชัยขัทคะ ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว (บรรณาธิการ). ตำนานมังราย เชียงใหม่ เชียงตุง. เอกสารอัดสำเนา, 2519
- ↑ สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ (ปริวรรต). คลองเจือแห่งพระเจ้ากือนา. กรุงเทพฯ : สุกัญญา, 2528.
- ↑ https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงเก่า-ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์/พระราชพงศาวดารกรุงเก่า-ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ สมชาย เดือนเพ็ญ. ประชาคมมณฑลเชลียง : กรณีศึกษาจังหวัดสุโขทัย. (เอกสารอัดสำเนา), 2551
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ เฉลิมพล คันธวงศ์ และคณะ. ตำนานและประวัติศาสตร์ “เมืองเถิน”. เอกสารอัดสำเนา, 2550
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า. นายต่อ (แปล). กรุงเทพฯ : มติชน, 2545. ISBN 974-322-595-1
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- ↑ https://vajirayana.org/โคลงเรื่อง-มังทรารบเชียงใหม่/
- ↑ https://vajirayana.org/โคลงเรื่อง-มังทรารบเชียงใหม่/
- ↑ เภา คำฟู. วัดดอยป่าตาล (วัดม่อนงัวนอน) อ.เถิน จ.ลำปาง, เอกสารแผ่นพับ.
- ↑ หวญ. พงศาวดารเมืองเถิน เลขที่ 7 มัดที่ 30.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2480. 196 หน้า. หน้า ง-ฉ. [พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก)]
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๙๗-ศึกพม่าครั้งที่-๔
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค 17. กรุงเทพฯ : อักษรนิติ, 2481.
- ↑ หวญ. ร.4 จ.ศ.1226 จดหมายถึงเมืองตากเรื่องเขตรแดนเมืองตากกับเมืองเถิน เลขที่ 85.
- ↑ หจช. ร.5 ม.43/35 การขออนุญาตประทับรัติไฟฯ.
- ↑ หจช. ร.5 ม. 58/42 พระยาศรีสหเทพตรวจจัดราชการต่าง ๆ ในมณฑลพายัพ (30 ม.ค. 115-20 มี.ค. 118).
- ↑ หวญ. ร.1 สำเนาบัญชีจ่ายข้าวส่งกองทัพ จ.ศ. 1147 เลขที่ 1
- ↑ หอพระสมุดวชิรญาณ. จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2459.
- ↑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค 17. กรุงเทพฯ : อักษรนิติ, 2481.
- ↑ หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : สหประชาณิชย์, 2530.
- ↑ เสถียร พันธรังสี และ อัมพร ทีขะระ (แปล). ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (เรียบเรียงจาก Temples and elephants ของ Carl Bock). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ หจช. ร.5 ม.58/188 เรื่องคิดจัดราชการเมืองนครลำพูน 6 ก.พ. 114-10 มี.ค. 118.
- ↑ กระทรวงการต่างประเทศ. ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ 5 เล่มที่ 1-2. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2549.
- ↑ หจช. ร.5 ม.58/113 เรื่องพระราชบุตรถึงแก่กรรมแลควรรวมเมืองเถินขึ้นกับเชียงใหม่ 27 ก.ค. 112-12 ต.ค. 112.
- ↑ หจช. ร.5 ม.58/113 เรื่องพระราชบุตรถึงแก่กรรมแลควรรวมเมืองเถินขึ้นกับเชียงใหม่ 27 ก.ค. 112-12 ต.ค. 112.
- ↑ หจช. ร.5 ม.43/35 การขออนุญาตประทับรัติไฟ.
- ↑ หจช. ร. 5 ม.58/182 รายงานต่าง ๆ จัดราชการเมืองนครลำปาง 20 ธ.ค. 116-11 เม.ย. 127.
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ หจช. ร.5 ม.28.2/11 กรมหลวงดำรงราชานุภาพกราบทูลรัชกาลที่ 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งข้าหลวง, ยกเว้นการเก็บเงินค่านาแก่ราษฎรในแขวงเมืองเถิน, เล่ม 19, ตอน 49, 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 121, หน้า 936
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย การงานในเมืองเถินมีน้อย ให้ยกเลิกกองข้าหลวงและผู้ว่าราชการเมือง คงให้มีแต่แขวงขึ้นในเค้าสนามหลวงนครลำปาง, เล่ม 22, ตอน 19, 6 สิงหาคม ร.ศ. 124, หน้า 429
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/10633
- ↑ ภูเดช แสนสา. ประวัติศาสตร์เมืองเถิน. เชียงใหม่ : แม็กพริ้นติ้ง, 2558. ISBN 978-616-374-986-4