โรลันท์ ไฟรส์เลอร์
โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ (เยอรมัน: Roland Freisler; 30 ตุลาคม ค.ศ. 1893 – 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945) เป็นนักนิติศาสตร์และตุลาการแห่งนาซีเยอรมนี เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมของนาซี เป็นประธานศาลประชาชน และเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมที่วันเซเมื่อ ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการฆ่าล้างชาวยิว
ต้นชีวิต
[แก้]ไฟรส์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ณ เซ็ลเลอ รัฐนีเดอร์ซัคเซิน บิดาของเขา คือ ยูลีอุส ไฟรส์เลอร์ (เกิด 20 สิงหาคม ค.ศ. 1862 ณ คลันเทินดอร์ฟ มอเรเวีย) ซึ่งเป็นวิศวกรและครู มารดาของเขา คือ ชาร์ล็อทเทอ เอากุสเทอ โฟลเร็นทีเนอ ชแวร์ทเฟเกอร์ (เกิด 30 เมษายน ค.ศ. 1863 ณ เซ็ลเลอ และเสียชีวิต 20 มีนาคม ค.ศ. 1932 ณ คัสเซิล)[1] เขามีน้องชายหนึ่งคน คือ อ็อสวัลท์ ไฟรส์เลอร์
เขารับบัพติศมาเข้าเป็นโปรเตสแตนต์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1893[2]
ต่อมา เขาเข้าเรียนนิติศาสตร์ แต่ต้องหยุดเรียนเมื่อเกิดสงครามขึ้นใน ค.ศ. 1914[3]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
[แก้]ใน ค.ศ. 1914 นั้นเอง เขาถูกเกณฑ์เป็นนายร้อย ณ กรมทหารราบโอเบอร์-เอ็ลเซ็สซิชเชิส (อาลซัสบน) ที่ 167 ในคัสเซิล[4]
ภายใน ค.ศ. 1915 เขาได้เลื่อนเป็นร้อยโท[1] และขณะประจำอยู่แนวหน้าในสังกัดกองที่ 22 ของกองทัพจักรวรรดิเยอรมันนั้น เขาได้รับอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็ก (Iron Cross) ชั้น 2 และชั้น 1 ตามลำดับ เพราะความกล้าหาญในการรบ[4]
ครั้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1915 เขาบาดเจ็บจากการรบที่แนวรบด้านตะวันออก และถูกจักรวรรดิรัสเซียจับเป็นเชลย[5] ขณะเป็นเชลยนั้น เขาได้เรียนภาษารัสเซีย และเริ่มสนใจในลัทธิมากซ์หลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้นแล้ว รัฐบาลชั่วคราวของฝ่ายบอลเชวิคซึ่งเข้าควบคุมค่ายเชลยของไฟรส์เลอร์นั้นนำไฟรส์เลอร์มาใช้ประโยชน์ โดยตั้งเขาเป็นคอมมิสซาร์ (Commissar) ตามที่เอกสารรัสเซียพรรณนาไว้เมื่อ ค.ศ. 1918 เขามีหน้าที่จัดเสบียงอาหารในค่ายช่วง ค.ศ. 1917–1918[6] ต่อมา รัสเซียกับเยอรมนีสงบศึกกัน และโอนเชลยที่ค่ายนี้ไปยังเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1918 ทำให้ค่ายว่างลง เป็นไปได้ว่า ในช่วงนั้น ไฟรส์เลอร์ไปสังกัดหน่วยองครักษ์แดง (Red Guards) อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานใด ๆ ยืนยันข้อนี้[7]
การเสียชีวิต
[แก้]เช้าวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ขณะที่ไฟรส์เลอร์นั่งพิจารณาคดีอยู่ที่ศาลประชาชน กองทัพอากาศสหรัฐที่มีผู้นำ คือ กองกำลังบี-17 ของนาวาโท รอเบิร์ต รอเซนทัล (Robert Rosenthal) ทิ้งระเบิดโจมตีเบอร์ลิน[8] อาคารของราชการและพรรคนาซีถูกถล่ม ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานหัวหน้าพรรคนาซี กองบัญชาการเกสตาโป และศาลประชาชน เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัย ไฟรส์เลอร์สั่งเลื่อนพิจารณาคดีอย่างรีบด่วน และให้นำนักโทษที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นไปยังที่หลบภัย แต่ตนเองยังอยู่ในศาลเพื่อเก็บแฟ้มสำนวนก่อน ในบรรดาแฟ้มเหล่านี้มีแฟ้มคดีของ Fabian von Schlabrendorff สมาชิกผู้ร่วมวางแผน 20 กรกฎาฯ ซึ่งถูกพิจารณาและพิพากษาประหารในวันนั้น อยู่ด้วย[9]
จนเวลา 11:08 นาฬิกา ระเบิดลูกหนึ่งทิ้งตรงลงมายังศาล[10] ทำให้ภายในอาคารพังลงบางส่วน ไฟรส์เลอร์ซึ่งยังอยู่ในห้องพิจารณานั้นถูกเสาปูนถล่มลงมาทับขาดใจตายคาที่[11] ศพของเขาถูกพบใต้ซากปรักหักพัง โดยยังกอดแฟ้มคดีแฟ้มหนึ่งที่เขาก้มลงหยิบเอาไว้แน่น[6]
แต่บ้างก็เล่าว่า ไฟรส์เลอร์ "โดนระเบิดลูกหลงตายขณะพยายามหนีออกจากศาลยุติธรรมไปยังที่หลบภัยทางอากาศ" และ "เลือดออกจนตายอยู่บนทางเดินนอกศาลประชาชน เลขที่ 15 ถนนเบ็ลวือในเบอร์ลิน" ส่วน Fabian von Schlabrendorff นั้น "ยืนอยู่ข้างไฟรส์เลอร์ตอนที่ไฟรส์เลอร์พบจุดจบ"[6] ไฟรส์เลอร์จึงเหมือนบัง Schlabrendorff ไว้จากวิถีระเบิด และภายหลังสงครามแล้ว Schlabrendorff ก็ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[12]
อนึ่ง มีอีกเรื่องเล่าว่า ไฟรส์เลอร์ตายเพราะระเบิดจากฝ่ายบริติชที่ร่วงลงสู่เพดานห้องพิจารณาขณะที่เขาพิจารณาคดีหญิงสองคนอยู่ และหญิงทั้งสองนั้นรอดชีวิตจากระเบิด[13]
ผู้สื่อข่าวต่างชาติรายงานว่า "เห็นชัดว่า ไม่มีใครเสียใจที่เขาตาย"[11] กว่า 25 ปีให้หลัง ลูอีเซอ โยเดิล ภริยาของพลเอก อัลเฟรท โยเดิล ให้สัมภาษณ์ว่า เธอทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลลึทโซตอนที่ศพของไฟรส์เลอร์ส่งมาถึง และมีคนงานคนหนึ่งออกความเห็นว่า "พระเจ้าพิพากษาแล้ว" นางโยเดิลยังเล่าว่า "ไม่มีใครพูดอะไรต่อ (ความเห็นนั้น) เลย"[14]
ศพของไฟรส์เลอร์ฝังไว้ในหลุมศพของตระกูลฝ่ายภริยา ณ สุสานวัลท์ฟรีทโฮฟดาเล็มในเบอร์ลิน แต่ป้ายหน้าหลุมศพไม่จารึกชื่อเขาไว้[15] สุสานนั้นยังไว้ศพของอุลริช วิลเฮ็ล์ม กราฟ ชเวรีน ฟ็อน ชวาเนินเฟ็ลท์ หนึ่งในผู้ร่วมวางแผน 20 กรกฎาคม ซึ่งถูกประหารชีวิตตามคำสั่งศาลประชาชนไม่กี่เดือนหลังเกิดการพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ""Freisler, Karl Roland", in: Hessische Biografie". 2012-09-07. สืบค้นเมื่อ 2013-09-29.
- ↑ Koch, H. W. (15 November 1997). In the Name of the Volk: Political Justice in Hitler's Germany. p. 28. ISBN 1860641741. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
- ↑ 'Hitler's Hilfer - Roland Freisler' ('Hitler's Henchmen') television documentary series, by Guido Knopp, ZDF Enterprizes (1998).
- ↑ 4.0 4.1 'Hitler's Helfer' by Guido Knopp (Pub. Goldmann, 1998).
- ↑ 'Richter in Roter Robe - Freisler, Prasident des Volkgerichtshofes' (Judge in a Red Robe - Freisler, President of the People's Court) by Gert Buchheit (Pub. Paul List, 1968).
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Knopp, Guido. Hitler's Hitmen, Sutton Publishing, 2000, pp. 216, 220-222, 228, 250.
- ↑ Wesel, Uwe. "Drei Todesurteile pro Tag" (Three death sentences per day), Die Zeit, 3 February 2005. Text in German Uwe Wesel is professor emeritus of Legal History in Berlin's Free University.
- ↑ "100th Bomb Group Foundation - Personnel - LT COL Robert ROSENTHAL". 100thbg.com. 100th Bomb Group Foundation. สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
Dec 1, 1944-Feb 3, 1945 - 418th BS, 100th BG (H) ETOUSAAF (8AF) Squadron Commander, 55 hours, B-17 Air Leader 5 c/m (combat missions) 45 c/hrs (combat hours) 1 Division Lead (Berlin Feb 3, 1945, shot down, picked up by Russians and returned to England) Acting Command 4 Wing Leads, Pilot Feb 3, 1945 - BERLIN - MACR #12046, - A/C#44 8379
- ↑ Will, George F. , "Plot failed, but the spirit lived," reprinted in The Anniston Star, 19 July 1974, p. 4.
- ↑ 'Hitler's Helfer - Roland Freisler' (Hitler's Henchmen - Roland Freisler) television documentary, by Guido Knopp, (ZDF Enterprizes, 1998)
- ↑ 11.0 11.1 Granberg, Jerje. AP dispatch from Stockholm, reprinted as "Berlin, Nerves Racked By Air Raids, Fears Russian Army Most," Oakland Tribune, 23 February 1945, p. 1.
- ↑ Davies, Norman. Europe at War 1939–1945: No Simple Victory (New York: Viking Penguin, 2007), p. 308.
- ↑ Davies, Norman. Europe at War 1939–1945: No Simple Victory (New York: Viking Penguin, 2007), p. 308.
- ↑ Buchanan, William, "Nazi War Criminal's Widow Recalls Nuremberg," Boston Globe report reprinted in The Daily Times-News (Burlington, N.C.), 20 December 1972, p. 1.
- ↑ 'Hitlers Helfer - Roland Freisler', television documentary by Guido Knopp (1998).