ซินต๋ำ
ซินต๋ำ (เชิน ตาน) | |
---|---|
申耽 | |
ขุนพลรวมใจ (懷集將軍 หฺวายจี๋เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 220 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจผี |
ขุนพลปราบภาคเหนือ (征北將軍 เจิงเป่ย์เจียงจฺวิน) (ภายใต้เล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 219 – ค.ศ. 220 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
เจ้าเมืองเซียงหยง (上庸太守 ช่างยงไท่โฉ่ว) (ภายใต้โจโฉและเล่าปี่ตามลำดับ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 220 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
นายกองเมืองเซียงหยง (上庸都尉 ช่างยงตูเว่ย์) (ภายใต้โจโฉ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 215 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอจู๋ชาน นครฉือเยี่ยน มณฑลหูเป่ย์ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน |
ญาติ | ซินหงี (น้องชาย) |
อาชีพ | ขุนนาง, ขุนพล |
บรรดาศักดิ์ | ยฺเหวียนเซียงโหว (員鄉侯) |
ซินต๋ำ, สินต่ำ[a] หรือซินตำ[b] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เชิน ตาน (จีน: 申耽; พินอิน: Shēn Dān) ชื่อรอง อี้จฺวี่ (จีน: 義舉; พินอิน: Yìjǔ) เป็นขุนพลในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจนถึงรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ซินต๋ำและซินหงีน้องชายเดิมเป็นขุนพลของโจโฉขุนศึกในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เคยแปรพักตร์ไปเข้าด้วยขุนศึกเล่าปี่ ท้ายที่สุดกลับมาเข้าด้วยรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก
ประวัติ
[แก้]ซินต๋ำเป็นชาวเมืองเซียงหยง[c] (上庸 ช่างยง) มณฑลเอ๊กจิ๋ว ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอจู๋ชาน นครฉือเยี่ยน มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน ซินต๋ำเกิดในตระกูลที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลในแถบเมืองเซียงหยงและเสเป๋ง (西平 ซีผิง) โดยในช่วงศักราชชูผิง (ค.ศ. 190-193) มีครอบครัวในแถบเมืองเซียงหยงและเสเป๋งที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลซินต๋ำหลายพันครัวเรือน ซินต๋ำมีน้องชายคือซินหงี เดิมซินต๋ำมีการติิดต่อใกล้ชิดกันกับเตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋ง ต่อมาในปี ค.ศ. 215 ทั้งซินต๋ำและเตียวฬ่อต่างก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ โจโฉจึงแต่งตั้งซินต๋ำให้มียศขุนพล (將軍 เจียงจฺวิน) แต่งตั้งให้เป็นนายกองเมืองเซียงหยง (上庸都尉 ช่างยงตูเว่ย์)[4] ภายหลังเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเซียงหยงและให้มีบรรดาศักดิ์เป็นยฺเหวียนเซียงโหว (員鄉侯)
ในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่ต้องการยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงมอบให้เบ้งตัดนำกำลังทหารจากอำเภอจีกุ๋ย (秭歸 จื่อกุย) เข้าโจมตีเมืองห้องเหลง (房陵 ฝางหลิง) ไขว่ ฉี (蒯祺) เจ้าเมืองห้องเหลงของฝ่ายโจโฉถูกทหารของเบ้งตัดสังหาร
จากนั้นเบ้งตัดจึงนำกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองเซียงหยง เล่าปี่เกรงว่าลำพังกองกำลังของเบ้งตัดคงยากที่จะยึดเมืองเซียงหยงได้เพียงลำพัง เล่าปี่จึงส่งเล่าฮองคุมกำลังทหารจากเมืองฮันต๋งเข้าร่วมกับกองกำลังของเบ้งตัดในการโจมตีเมืองเซียงหยง ซินต๋ำซึ่งเป็นเจ้าเมืองเซียงหยงในเวลานั้นในยอมจำนนยกเมืองเซียงหยงให้ และให้โยกย้ายภรรยาและบุตร รวมถึงคนในตระกูลส่งไปยังเซงโต๋เพื่อเป็นตัวประกัน เล่าปี่จึงแต่งตั้งซินต๋ำให้เป็๋นขุนพลปราบภาคเหนือ (征北將軍 เจิงเป่ย์เจียงจฺวิน) โดยที่ตำแหน่งอื่น ๆ (ตำแหน่งเจ้าเมืองเซียงหยงและบรรดาศักดิ์ยฺเหวียนเซียงโหว) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เล่าปี่ยังแต่งตั้งซินหงีน้องชายของซินต๋ำเป็นขุนพลสถาปนาความเชื่อมั่น (建信將軍 เจี้ยนซิ่นเจียงจฺวิน) และเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเสเสีย (西城 ซีเฉิง)[5]
ใน ค.ศ. 220 เบ้งตัดกลัวว่าตนจะถูกลงโทษฐานที่ไม่รีบไปช่วยเหลือกวนอูที่พ่ายแพ้ต่อซุนกวนและถูกจับประหารชีวิต และเนื่องจากเวลานั้นเบ้งตัดมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเล่าฮอง เบ้งตัดจึงนำผู้ใต้บังคับบัญชาของตนแปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจผี ภายหลังซินหงีน้องชายของซินต๋ำก็นำทหารแปรพักตร์เข้าด้วยโจผี และกลับเข้าโจมตีเล่าฮองจนเล่าฮองแตกพ่าถอยหนีกลับไปเซงโต๋ ฝ่ายซินต๋ำก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมสวามิภักดิ์ต่อโจผี โจผีเห็นว่าซินต๋ำไม่ได้สวามิภักดิ์โดยสมัครใจจึงกีดกันไม่ให้ซินต๋ำมีอำนาจทางทหาร เพียงแต่งตั้งให้มียศขุนพลรวมใจ (懷集將軍 หฺวายจี๋เจียงจฺวิน) และย้ายซินต๋ำให้ไปอาศัยอยู่เมืองลำหยง (南陽 หนานหยาง) ให้อยู่ที่บ้านโดยไม่ช่วงใช้งาน นอกจากนี้ยังถอดบรรดาศักดิ์ยฺเหวียนเซียงโหว ส่งมอบให้ซินหงีน้องชายเป็นยฺเหวียนเซียงโหวแทน ซินต๋ำใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่บ้าน ไม่มีการบันทึกถึงบทบาทของซินต๋ำหลังจากนั้น[6]
ในนิยายสามก๊ก
[แก้]ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในระหว่างการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง เบ้งตัดคิดกลับไปเข้าด้วยจ๊กก๊กและก่อกบฏต่อวุยก๊ก ซินต๋ำและซินหงีแสร้งทำเป็นเข้าด้วยเบ้งตัดแต่ขณะเดียวกันก็ลอบแจ้งสุมาอี้ให้ยกทัพมาปราบกบฏจนสามารถกำจัดเบ้งตัดได้สำเร็จ ตัวซินต๋ำเป็นผู้ลงมือสังหารเบ้งตัดระหว่างการปราบปราม ต่อมาซินหงีและซินต๋ำไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ในยุทธการที่เกเต๋ง
ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่เบ้งตัดก่อกบฏ ซินต๋ำไม่ได้รับราชการแล้วและไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏ และในเวลานั้นซินต๋ำอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว
ในซีรีส์ละครโทรทัศน์เรื่องสามก๊กในปี พ.ศ. 2537 มีการเล่าว่าหลังการเสียชีวิตของเบ้งตัด ซินต๋ำและซินหงีถูกสั่งประหารโดยสุมาอี้เพราะทั้งคู่ไว้ใจไม่ได้ เป็นเรื่องราวเฉพาะในละครชุดนี้ ไม่ปรากฏในนวนิยายสามก๊กต้นฉบับและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 58[1]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 61[2]
- ↑ ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("ฝ่ายสินต่ำเจ้าเมืองซงหยง ครั้นรู้ว่าโจโฉปราชัยแก่ข้าศึกหนีไป ทิ้งเมืองฮันต๋งเสียแล้ว ก็มิอาจจะสู้รบเล่าปี่ได้ จึงพาทหารบันดาพรรคพวกมาสมัคทำราชการด้วยเล่าปี่") "สามก๊ก ตอนที่ ๕๘". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 29, 2023.
- ↑ ("ฝ่ายเล่าฮองเบ้งตัดมาตีเมืองซงหยง ซินตำเจ้าเมืองไม่ต่อสู้ พาทหารออกมายอมเข้าด้วย เมื่อได้เมืองแล้วพระเจ้าเล่าปี่จึงตั้งให้อยู่รักษาเมืองซงหยงด้วยกันทั้งสองคน") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 29, 2023.
- ↑ (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 29, 2023.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ (申儀兄名耽,字義舉。初在西平、上庸間聚眾數千家,後與張魯通,又遣使詣曹公,曹公加其號為將軍,因使領上庸都尉。) อรรถาธิบายจากเว่ยเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (建安二十四年,命達從秭歸北攻房陵,房陵太守蒯祺為達兵所害。達將進攻上庸,先主陰恐達難獨任,乃遣封自漢中乘沔水下統達軍,與達會上庸。上庸太守申耽舉眾降,遣妻子及宗族詣成都。先主加耽征北將軍,領上庸太守員鄉侯如故,以耽弟儀為建信將軍、西城太守,遷封為副軍將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (申儀叛封,封破走還成都。申耽降魏,魏假耽懷集將軍,徙居南陽,儀魏興太守,封(真鄉侯)〔員鄉侯〕,屯洵口。 ) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).