ข้ามไปเนื้อหา

ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า
Guns, Germs, and Steel
ปกของฉบับแรกที่พิมพ์ โดยใช้ภาพเขียน พิซาโรเข้ายึดจักรวรรดิอินคาแห่งเปรู ของเซอร์จอห์น เอเวอเร็ตต์ มิลเลย์
ผู้ประพันธ์แจเร็ด ไดมอนด์
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาภาษาอังกฤษ
หัวเรื่องภูมิศาสตร์, การปฏิวัติทางสังคม, ชาติพันธุ์วิทยา, การแพร่วัฒนธรรม
พิมพ์1997 (W. W. Norton)
ชนิดสื่อปกแข็ง ปกอ่อน ซีดีเสียงอ่าน เทปเสียงอ่าน เสียงที่ดาวน์โหลดได้
หน้า480 หน้า (ฉบับแรก ปกแข็ง)
ISBN0-393-03891-2 (ฉบับแรก ปกแข็ง)
OCLC35792200
303.4 21
LC ClassHM206 .D48 1997

ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า - ชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (อังกฤษ: Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies) เป็นหนังสือสารคดีหลายสาขาวิชาของ ศ.ดร.แจเร็ด ไดมอนด์ ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์และสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในปี 2541 หนังสือได้ชนะรางวัลหลายรางวัลรวมทั้งรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับวรรณกรรมสารคดีทั่วไป ต่อมาในปี 2548 จึงมีภาพยนตร์สารคดีที่จัดถ่ายโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกและถ่ายทอดทางช่องพีบีเอ็ส[1]

หนังสือพยายามอธิบายว่าทำไมอารยธรรมยูเรเชีย (รวมทั้งแอฟริกาเหนือ) จึงอยู่รอดและพิชิตอารยธรรมอื่น ๆ ได้ และต่อต้านความคิดว่า อำนาจที่ครอบงำโลกของยูเรเชีย มีเหตุมาจากความเหนือกว่าของระดับเชาวน์ปัญญา ศีลธรรม หรือลักษณะทางพันธุกรรม และอ้างว่า ความแตกต่างของอำนาจและเทคโนโลยีระหว่างสังคมมนุษย์มาจากความแตกต่างของสิ่งแวดล้อม ซึ่งขยายเพิ่มกำลังโดยการป้อนกลับเชิงบวกในรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือทางพันธุกรรมที่ทำให้คนยูเรเชียได้เปรียบจริง ๆ (เช่น ในเรื่องภาษาเขียน หรือภูมิคุ้มกันโรคประจำถิ่นต่าง ๆ) หนังสืออ้างว่า ความได้เปรียบเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลทางภูมิประเทศต่อสังคมและวัฒนธรรม (เช่น ทำให้ติดต่อค้าขายกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้สะดวก) ไม่ใช่เพราะจีโนมพิเศษของคนยูเรเชีย

สาระย่อ

[แก้]

อารัมภบทของหนังสือกล่าวถึงการสนทนาระหว่าง ศ.ไดมอนด์กับนักการเมืองปาปัวนิวกินีคนหนึ่งคือนายยาลี เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างอำนาจและเทคโนโลยีของคนพื้นเมืองปาปัวนิวกินีและชาวยุโรปผู้ได้ครอบครองแผ่นดินมาเป็นเวลานานถึง 200 ปี เป็นความแตกต่างที่คนทั้งสองไม่คิดว่ามาจากความเหนือกว่าทางพันธุกรรมของคนยุโรป นายยาลีได้ถามว่า ทำไมคนผิวขาวจึงได้พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมากแล้วนำมาสู่เกาะนิวกินี แต่คนพื้นเมืองผิวดำกลับมีสิ่งเหล่านี้น้อยกว่า[2]: 14  ศ.ไดมอนด์ จึงตระหนักรู้ในเวลานั้นว่า คำถามเช่นเดียวกันดูเหมือนจะใช้ได้ในที่อื่น ๆ คือ ทำไมคนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเรเชีย จึงได้ครองโลกทั้งในเรื่องทรัพย์สินและอำนาจ คนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ได้กำจัดความเป็นอาณานิคม ก็ยังล้าหลังกว่าในด้านทรัพย์สินและพลังอำนาจ และก็ยังมีคนพวกอื่น ๆ อีกที่ได้ "ถูกทำลายอย่างล้างผลาญ ถูกพิชิต และในบางกรณีถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยนักล่าอาณานิคมชาวยุโรป"[2]: 15  คือ คนในเขตต่าง ๆ (เช่นคนแอฟริกาใต้สะฮารา ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียและเกาะนิวกินี และชนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์ก่อนยุคปัจจุบัน) ถูกพิชิต และถูกแทนที่ และยังมีกรณีที่สุด ๆ บางกรณี ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย และชนพื้นเมืองแอฟริกาใต้เผ่า Khoisan ที่ได้ถูกฆ่าไปจนเกือบหมดสิ้นโดยคนในสังคมเกษตรเช่นของคนยูเรเชียและคนบานทู ศ.ไดมอนด์เชื่อว่า นี้เป็นเพราะความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและระบบภูมิคุ้มกัน ที่เป็นผลจากการเกิดขึ้นเร็วกว่าของระบบเกษตรกรรมหลังจากยุคน้ำแข็งล่าสุด

ชื่อหนังสือ

[แก้]

ชื่อหนังสือมุ่งหมายถึงวิธีที่คนจากสังคมเกษตรได้พิชิตคนในเขตอื่น ๆ และธำรงรักษาความยิ่งใหญ่กว่า แม้ว่าบางครั้งจะมีคนน้อยกว่ามาก ซึ่งก็คือ

ศ.ไดมอนด์ได้อ้างว่า ลักษณะภูมิประเทศ อากาศ และสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยให้เกิดพัฒนาการของสังคมเกษตรที่มั่นคงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเป็นเหตุให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ประจำอยู่กับปศุสัตว์ และพัฒนาการของรัฐที่ทรงพลังอำนาจและมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุทำให้สามารถเป็นใหญ่เหนือชนกลุ่มอื่น ๆ ได้

โครงสร้างทฤษฎี

[แก้]

ศ.ไดมอนด์อ้างว่า อารยธรรมยูเรเชียไม่ใช่ผลของความเฉลียวฉลาด แต่เป็นผลของโอกาสและความจำเป็น นั่นก็คือ อารยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนฉลาดกว่า แต่เป็นผลของพัฒนาการแบบลูกโซ่ ซึ่งแต่ละห่วง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะให้เกิดห่วงต่อไป

ขั้นแรกในการก้าวไปสู่ความเป็นอารยธรรมก็คือการเปลี่ยนจากการทำกินแบบล่าสัตว์-เก็บพืชผลที่ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ไปสู่สังคมเกษตรที่อยู่กับที่ และก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นที่จะทำก้าวแรกนี้ให้เป็นไปได้ คือ การมีพืชผักมีโปรตีนสูงที่ทนพอที่จะเก็บได้ ภูมิอากาศที่แห้งพอที่จะเก็บ และการมีสัตว์ที่มีคุณสมบัติเพื่อปรับเป็นสัตว์เลี้ยง และที่ยืดหยุ่นพอเพื่อจะดำรงอยู่ในชีวิตที่ถูกจับขังได้ สมรรถภาพในการควบคุมพืชผลและปศุสัตว์ก็จะนำไปสู่ภาวะที่มีอาหารเหลือ ซึ่งสร้างอิสรภาพให้กับบุคคลบางพวกเพื่อจะสร้างความชำนาญในกิจกรรมนอกเหนือไปจาการดำรงรักษาและสนับสนุนการเติบโตของประชากร ความชำนาญเฉพาะการและการเติบโตของประชากรรวมกันมีผลเป็นนวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนส่งเสริมกันและกัน สังคมที่ใหญ่ขึ้น ๆ จึงพัฒนาคนชั้นปกครองและสนับสนุนระบบข้าราชการประจำ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การปกครองระดับรัฐชาติและจักรวรรดิ[2]

แม้ว่าระบบเกษตรกรรมจะเกิดขึ้นเองในที่ต่าง ๆ ในโลก ยูเรเชียได้เปรียบในเบื้องต้นเพราะมีพืชและสัตว์พันธุ์ที่เหมาะในการเพาะปลูกและการปรับนำมาเลี้ยงมากกว่า โดยเฉพาะก็คือ ยูเรเชียมีข้าวบาร์ลีย์ มีข้าวสาลีสองประเภท มีถั่วที่สมบูรณ์ไปด้วยโปรตีนเป็นอาหาร มีฝ้ายทำเป็นเสื้อผ้า มีแพะ แกะ และวัวเป็นปศุสัตว์ พืชผลยูเรเชียมีโปรตีนที่สมบูรณ์กว่า ง่ายกว่าที่จะหว่านปลูก และง่ายกว่าที่จะเก็บเมื่อเทียบกับข้าวโพดของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา หรือกล้วยของคนในเขตร้อน

นอกจากนั้นแล้ว เมื่ออารยธรรมเอเชียตะวันตกเริ่มค้าขาย ก็ได้พบสัตว์ที่มีประโยชน์อื่น ๆ ในเขตข้างเคียง ที่สำคัญที่สุดก็คือม้าและลาที่ใช้ในการขนส่ง ศ.ไดมอนด์ได้ระบุสัตว์ใหญ่ 13 พันธุ์ที่หนักกว่า 100 ปอนด์ ที่ปรับมาเลี้ยงในยูเรเชีย เทียบกับพันธุ์เดียวในอเมริกาใต้ (คือนับยามาและอัลปากาเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน) และกับที่อื่น ๆ ในโลกที่ไม่มีเลย ส่วนออสเตรเลียและอเมริกาเหนือไม่มีสัตว์ที่เป็นประโยชน์เพราะเหตุการสูญพันธุ์ โดยอาจจะเป็นเพราะการล่าสัตว์ของมนุษย์ในช่วงทันทีหลังจากสมัยไพลสโตซีน ส่วนสัตว์เลี้ยงในเกาะนิวกินีทั้งหมด มาจากเอเชียตะวันออกในยุคการย้ายถิ่นฐานของคนออสโตรนีเซียนเมื่อประมาณ 4-5 พันปีก่อน ส่วนสัตว์ตระกูลญาติของม้า รวมทั้งม้าลายและม้าสกุล "Equus hemionus" (onager) ไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้ และแม้ว่าช้างแอฟริกาจะเลี้ยงให้เชื่องได้ แต่ก็ยากมากที่จะเลี้ยงให้ออกลูกหลานในสถานะที่ถูกจับ[2][3] ศ.ไดมอนด์กล่าวถึงสัตว์พันธุ์ที่ปรับนำมาเลี้ยง 14 พันธุ์จาก 148 พันธุ์ที่อาจปรับได้ว่า แม้ว่าบางสปีชีส์ดูจะมีหวัง แต่ก็อาจจะมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้

คนยูเรเชียได้เลี้ยงแพะและแกะเพื่อหนัง เสื้อผ้า และชีส, วัวตัวเมียเพื่อนม, วัวตัวผู้เพื่อการไถดินและการขนส่ง และสัตว์ไม่ดุร้ายอื่น ๆ เช่นหมูและไก่เพื่อเป็นอาหาร ส่วนสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงตัวใหญ่อื่น ๆ เช่นม้าและอูฐได้สร้างความได้เปรียบทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจเนื่องจากการขนส่งที่รวดเร็ว

ผลอย่างหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ได้ตั้งใจในการปรับสัตว์นำมาเลี้ยงก็คือ การแปรพันธุ์ของไวรัสสัตว์เลี้ยงมาเป็นไวรัสของมนุษย์ โรคเช่นโรคฝีดาษ โรคหัด และไข้หวัดใหญ่ เกิดจากความใกล้ชิดกันระหว่างสัตว์และมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด และเพราะการได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง การมีโรคระบาดเป็นระยะ ๆ แบบไม่ถึงกับทำลายล้างเป็นศตวรรษ ๆ ชาวยูเรเชียได้พัฒนาภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งต่อโรคเหล่านี้ และแม้ว่ามาลาเรียจะพิจารณาว่าเป็นจุลินทรีย์ที่อันตรายที่สุดต่อมนุษย์ แต่มันก็จำกัดอยู่เฉพาะเขต แต่ว่า โรคฝีดาษไม่จำกัดเขต ไม่ว่าชนยูเรเชียไปถึงที่ไหนก็ได้นำโรคนี้ไปด้วย

การมีแผ่นดินที่ใหญ่โตและความกว้างยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นสิ่งที่เพิ่มความได้เปรียบเหล่านี้ คือ ความกว้างใหญ่ของแผ่นดินทำให้มีพันธุ์พืชและสัตว์มากกว่าที่จะใช้เพาะปลูกและเลี้ยง และทำให้สามารถแลกเปลี่ยนทั้งนวัตกรรมและโรคกับชนเหล่าอื่น ๆ ได้ ส่วนความกว้างยาวของทิศทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก ช่วยให้พันธุ์สัตว์และพืชที่ดัดแปรให้ปลูกให้เลี้ยงได้จากที่หนึ่ง สามารถนำไปใช้ได้อีกที่หนึ่งที่มีภูมิอากาศและฤดูกาลที่คล้าย ๆ กัน ส่วนทวีปอเมริกามีปัญหาในการแปรพืชที่ใช้เพาะปลูกในละติจูดหนึ่งไปใช้กับอีกละติจูดหนึ่ง (และในอเมริกาเหนือ ในการแปรพืชที่ปลูกทางด้านหนึ่งของเทือกเขาร็อกกีไปปลูกอีกด้านหนึ่ง) และก็คล้าย ๆ กัน แอฟริกาถูกแบ่งออกเป็นเขต ๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างฉับพลันจากทิศเหนือไปสู่ใต้ และพืชผลและสัตว์ที่เจริญเติบโตได้ในบริเวณหนึ่ง ไม่สามารถถ่ายข้ามไปเขตอื่น ๆ ที่พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ เพราะว่าไม่สามารถอยู่รอดได้ในบริเวณในระหว่าง ๆ ยุโรปเป็นเขตที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดของความกว้างยาวในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก คือ ในพันปีแรกก่อนคริสต์ศักราช บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปได้เริ่มใช้สัตว์ พืช และเทคนิคเกษตรกรรมของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และในพันปีต่อมาหลังคริสต์ศักราช ยุโรปที่เหลือก็ได้ทำเช่นเดียวกัน[2][3]

การมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และประชากรที่แน่นหนาทำให้สามารถแบ่งผู้ชำนาญการเป็นส่วน ๆ ได้ ผู้ชำนาญการที่ไม่ใช่เกษตรกรเช่นช่างฝีมือและคนคัดลอกหนังสือ ได้เร่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การได้เปรียบทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้คนยุโรปสามารถพิชิตคนพวกอื่น ๆ ในทวีปต่าง ๆ ในศตวรรษที่ผ่าน ๆ มาโดยใช้ปืนและเหล็กกล้าตามที่ตั้งชื่อหนังสือ

ความแออัดของประชากร การค้าขายอย่างกว้างขวาง และการใช้ชีวิตใกล้กับปศุสัตว์ มีผลให้โรคแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งโรคจากสัตว์มายังมนุษย์ การคัดเลือกโดยธรรมชาติมีผลให้คนยูเรเชียพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ มากมาย และเมื่อคนยุโรปติดต่อกับคนอเมริกา โรคชนยุโรปที่คนอเมริกาไม่มีมีภูมิคุ้มกัน ได้ฆ่าคนพื้นเมืองอเมริกาจนเกือบหมดสิ้น โดยคนยุโรปไม่ได้ติดโรคจากคนอเมริกา ส่วนการแลกเปลี่ยนโรคระหว่างคนยุโรปกับคนแอฟริกาและคนเอเชียใต้สมดุลกันมากกว่า คือ เขตที่มีโรคประจำถิ่นคือมาลาเรียและไข้เหลือง ได้ชื่อว่าเป็น "สุสานของคนผิวขาว"[4] และซิฟิลิสก็อาจจะมีกำเนิดในทวีปอเมริกา[5] ดังนั้น โรค "ของคนยุโรป" คือเชื้อโรคดังที่เป็นชื่อของหนังสือได้ทำลายล้างประชากรเผ่าต่าง ๆ จนกระทั่งว่าชาวยุโรปแม้จำนวนน้อยก็ยังสามารถมีอำนาจเหนือกว่าได้[2][3]

ศ.ไดมอนด์ก็ยังเสนอคำอธิบายโดยภูมิประเทศว่า ทำไมสังคมชาวยุโรปตะวันตก แต่ไม่ใช่สังคมมหาอำนาจอื่น ๆ เช่นจีน ที่ได้เป็นผู้ล่าอาณานิคมหลัก[2][6] คืออ้างว่า ภูมิประเทศของยุโรปเป็นใจให้ชนต่าง ๆ แบ่งออกเป็นรัฐชาติเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กันโดยมีพรมแดนธรรมชาติเป็นภูเขา แม่น้ำ และฝั่งทะเล และภัยที่เกิดจากรัฐเพื่อนบ้านประกันรับรองว่า รัฐบาลที่มีนโยบายระงับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจำต้องแก้นโยบายนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะแข่งกับรัฐเพื่อนบ้านไม่ได้ และมีผลเป็นสถานะที่รัฐชาติที่มีอำนาจมากที่สุดมักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในขณะที่วัฒนธรรมล้ำหน้าในเขตอื่น ๆ มีภูมิประเทศที่เป็นใจให้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ สมานเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มีคู่แข่งที่สามารถมีอิทธิพลให้แก้นโยบายที่ผิดพลาดบางอย่างได้ เช่น นโยบายห้ามการสร้างเรือมหาสมุทรของจีน (เพื่อห้ามโจรสลัด) ยุโรปตะวันตกยังมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น (temperate) ไม่เหมือนกับเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นเขตแห้งแล้ง (arid) หรือกึ่งแห้งแล้ง (semi-arid) ที่การเกษตรแบบไม่หยุดยั้งในที่สุดก็ทำสิ่งแวดล้อมให้เสียหาย ทำให้ทะเลทรายขยายตัว และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เกษตรกรรม

[แก้]

หนังสืออ้างว่า เมืองและนิคมต้องอาศัยแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยเกษตรกรรม และเมื่อเกษตรกรเป็นผู้ผลิตอาหาร บุคคลอื่นจึงจะมีอิสระในการทำกิจอื่น ๆ เช่นทำเหมืองหรือทำการเกี่ยวกับภาษาเขียน

อุปสรรคที่ชี้ขาดของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมก็คือการมีพันธุ์พืชที่รับประทานได้หลาย ๆ พันธุ์ที่สามารถนำมาเพาะปลูกได้ เกษตรกรรมเกิดขึ้นในบริเวณจันทร์เสี้ยวอันอุดม (Fertile Crescent) เพราะว่าบริเวณนั้นมีข้าวสาลีและถั่วป่าหลายพันธุ์ที่มีสารอาหารที่สมบูรณ์และง่ายต่อการนำมาเพาะปลูก โดยเปรียบเทียบกันแล้ว เกษตรกรในทวีปอเมริกาต้องพัฒนาข้าวโพดให้เป็นพืชผลที่ใช้เพาะปลูกได้ โดยน่าจะพัฒนามาจากพืชบรรพบุรุษที่เรียกว่า teosinte

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์-เก็บพืชผล ไปเป็นสังคมเกษตรที่อยู่ในเมืองก็คือ การมีสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงได้ขนาดใหญ่ เพื่อบริโภคเนื้อ เพื่อใช้ทำงาน และเพื่อการสื่อสารระยะไกล ศ.ไดมอนด์ได้ระบุสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เพียง 14 ชนิดเท่านั้นจากทั่วโลก และที่มีประโยชน์มากที่สุด 5 อย่างคือวัว ม้า แกะ แพะ และหมู ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์มีต้นตระกูลในยูเรเชีย และที่เหลืออีก 9 ประเภท มีเพียง 2 พันธุ์ คือยามาและอัลปากาในอเมริกาใต้เท่านั้น ที่อยู่ที่อื่นนอกเขตอบอุ่นของยูเรเชีย

เพราะว่าจะต้องมีปัจจัยพร้อมทุกอย่าง จึงมีสัตว์ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เหมาะสมในการปรับนำมาเลี้ยง ศ.ไดมอนด์ระบุปัจจัย 6 อย่างรวมทั้งเป็นสัตว์ค่อนข้างว่าง่าย อยู่เป็นกลุ่มได้ สามารถสืบพันธุ์แม้ถูกจับได้ และมีลำดับชั้นทางสังคม ดังนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในแอฟริกาเช่นม้าลาย แอนทิโลป ควายป่าแอฟริกัน และช้างแอฟริกา จึงไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้ คือแม้ว่าสัตว์บางชนิดจะเลี้ยงให้เชื่องได้ แต่ว่าจะไม่สืบพันธุ์ง่าย ๆ เมื่อถูกจับ เหตุการณ์ที่ยังเป็นไปในปัจจุบันที่เรียกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์สมัยโฮโลซีน (Holocene extinction event) กำจัดสัตว์ใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าไม่ได้สูญพันธุ์ไป ก็อาจจะเป็นสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงได้ และ ศ.ไดมอนด์อ้างว่า รูปแบบการสูญพันธุ์รุนแรงกว่าในทวีปที่สัตว์ไม่เคยมีประสบการณ์กับมนุษย์ แล้วมาประสบกับพวกมนุษย์ที่มีเทคนิคก้าวหน้าในการล่าสัตว์ (เช่นในทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย)

แม้ว่าสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงอื่น ๆ เช่นสุนัข แมว ไก่ และหนูตะเภา อาจมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อสังคมเกษตร แต่สัตว์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้มีหรือรักษาสังคมเกษตรขนาดใหญ่ได้ ตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการใช้สัตว์ใหญ่เช่นวัวและม้าในการไถดิน ทำให้มีพืชผลที่อุดมสมบูรณ์กว่า สามารถปลูกพืชได้หลายอย่างกว่า ในพื้นที่และในดินหลายอย่างกว่า ที่จะเป็นไปได้ถ้าใช้แต่กำลังมนุษย์อย่างเดียว สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ยังมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าและมนุษย์ในระยะไกล ๆ ทำให้สังคมที่มีสัตว์ดังกล่าวได้เปรียบทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

ภูมิประเทศ

[แก้]

ศ.ไดมอนด์อธิบายด้วยว่า ภูมิประเทศสามารถมีผลต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์อย่างไร โดยไม่เพียงแต่ทำให้การเดินทางยากลำบากขึ้นเท่านั้น (โดยเฉพาะโดยผ่านละติจูดต่าง ๆ) แต่มีผลต่อการแพร่กระจายของสัตว์เลี้ยงไปในเขตต่าง ๆ และมีผลต่อพืชที่สามารถขึ้นได้ง่ายในเขตที่มีแสงอาทิตย์เหมาะแก่ตนเท่านั้น มนุษย์ปัจจุบันเชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดจากทางตะวันออกของหุบเขาเกรตริฟต์แวลลีย์ในทวีปแอฟริกา ไม่ใช่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง (ดู การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์) และทะเลทรายสะฮาราทำให้มนุษย์ไม่สามารถอพยพไปทางทิศเหนือสู่บริเวณจันทร์เสี้ยวอันอุดม (Fertile Crescent) จนกระทั่งต่อมาในเวลาที่หุบเขาแม่น้ำไนล์เดินทางได้สะดวกขึ้น ศ.ไดมอนด์ได้อธิบายประวัติพัฒนาการของมนุษย์มาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ผ่านพัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และผลเสียหายที่มีต่อวัฒนธรรมล่าสัตว์-เก็บพืชผลต่าง ๆ ทั่วโลก ศ.ไดมอนด์กล่าวถึงว่า ทำไมประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดใน 500 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นประเทศยุโรปตะวันตกแทนที่จะเป็นเอเชียตะวันออก (โดยเฉพาะจีน) คือในเขตเอเชียที่อารยธรรมใหญ่ ๆ บังเกิดขึ้นมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ เสถียร และโดดเดี่ยว ซึ่งไม่มีแรงกดดันจากภายนอกให้เปลี่ยนแปลงพัฒนา เปรียบเทียบกับยุโรปซึ่งมีเครื่องขวางกั้นทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถมีรัฐชาติต่าง ๆ ที่แก่งแย่งกัน ซึ่งมีผลให้สนับสนุนสร้างนวัตกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความนิ่งตายของเทคโนโลยี

เชื้อโรค

[แก้]

ในการยึดทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของชาวยุโรป คนพื้นเมืองประมาณ 95% เชื่อว่าเสียชีวิตจากโรคที่คนยุโรปนำเข้าไป คำถามก็คือ แล้วทำไมโรคคนพื้นเมืองอเมริกาจึงไม่ฆ่าคนยุโรปที่เข้าไปยึดครอง ศ.ไดมอนด์เสนอว่า การมีประชากรที่แออัดยัดเยียดขึ้นที่สนับสนุนโดยเกษตรกรรม และการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดทำให้มนุษย์ติดโรคจากสัตว์ มีผลเป็นสังคมคนยุโรปที่ได้สะสมเชื้อโรคอันตรายเป็นจำนวนมาก ที่คนยุโรปได้สร้างภูมิคุ้มกันผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (เช่นแบล็กเดทและโรคระบาดอื่น ๆ) ในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าที่คนพื้นเมืองทวีปอเมริกาทั้งที่เป็นผู้ล่าสัตว์-เก็บพืชผล และที่เป็นเกษตรกรจะมีโอกาส แม้ว่าจะมีโรคเขตร้อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาเรีย) ที่จำกัดการแพร่อาณานิคมของคนยุโรปเข้าไปในแอฟริกาเป็นข้อยกเว้น

ความสำเร็จและความล้มเหลว

[แก้]

หนังสือเล่มนี้พุ่งความสนใจไปที่เหตุผลว่า ทำไมชนบางกลุ่มจึงประสบความสำเร็จ ส่วนหนังสือเล่มต่อมาของ ดร.ไดมอนด์ คือ ล้ม! วิธีที่สังคมเลือกที่จะล้มเหลวหรือประสบชัยชนะ (Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed) พุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้สังคมบางสังคมล้มเหลว นี่เป็นหนังสือแบบเป็นสารเตือน

พื้นเพ

[แก้]

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 กลุ่มนักวิชาการสำนัก Annales School ในประเทศฝรั่งเศสได้ศึกษาโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ในระยะยาว โดยสังเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมวิทยา คือตรวจสอบอิทธิพลของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการใช้พื้นที่ แม้ว่าภูมิศาสตร์จะเป็นสาขาวิชาที่เกือบจะสูญไปในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังคริสต์ทศวรรษ 1960 แต่ก็มีทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ที่อ้างภูมิประเทศเป็นเหตุ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990[7] รวมทั้งหนังสือเล่มนี้

การตอบรับหนังสือ

[แก้]

หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัลหลายรางวัลรวมทั้ง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2005 สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกจึงได้สร้างภาพยนตร์สารคดีมีชื่อเดียวกันกับและอาศัยข้อมูลในหนังสือ ที่ถ่ายทอดทางช่องพีบีเอ็ส[1]

การทบทวนโดยนักวิชาการ

[แก้]

ในงานปฏิทัศน์หนังสือที่โดยทั่วไปเป็นการชม นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งแย้งว่า "เพราะเป็นงานใหญ่ที่เขาตั้งให้กับตนเอง เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่ ศ.ไดมอนด์ได้ใช้ข้อมูลแบบกว้าง ๆ เพื่อจะสนับสนุนข้ออ้างของเขา"[11]

ส่วนนักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปก็ชมเหมือนกัน แย้งว่า ศ.ไดมอนด์ขายทฤษฎีภูมิประเทศที่ใช้เป็นเครื่องอธิบายประวัติศาสตร์มากเกินไป โดยให้ความสำคัญกับอิสรภาพทางวัฒนธรรมน้อยเกินไป[3][12]

ในหนังสือที่พิมพ์ในปี 2000 นักมานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์ท่านหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์หนังสือว่า รื้อฟื้นทฤษฎีแบบนิยัตินิยมโดยสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) แล้วเรียก ศ.ไดมอนด์ว่าเป็นตัวอย่างนักประวัติศาสตร์ที่ยกคนยุโรปให้เป็นศูนย์กลางในยุคปัจจุบัน[13] และวิจารณ์การใช้คำแบบไม่ระวัง รวมทั้ง "ยูเรเชีย" และ "มีความคิดก้าวหน้า" (innovative) ซึ่งเขาเชื่อว่าทำให้ผู้อ่านคิดเอาอย่างผิด ๆ ว่า ยุโรปตะวันตกเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในเขตตะวันออกลางและเอเชีย[14]

ส่วนนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่านหนึ่งชมหนังสือว่า เป็นหนังสือที่อ่านแล้วตื่นเต้นกระชุ่มกระชวย แล้วยกให้เป็นหนึ่งในรายการหนังสือ 10 เล่มที่นักศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุก ๆ คนควรอ่าน[15]

การพิมพ์

[แก้]

หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1997 แล้วต่อมาจึงพิมพ์ในสหราชอาณาจักรในปี 1998 โดยใช้ชื่อว่า ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า - ประวัติศาสตร์ย่อ ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ทุกพวกใน 13,000 ปีที่ผ่านมา (Guns, Germs and Steel: A short history of everybody for the last 13,000 years[16]

ต่อมาในปี 2003 และ 2007 ผู้เขียนจึงพิมพ์หนังสือฉบับภาษาอังกฤษฉบับใหม่ ที่รวมข้อมูลที่ได้เพิ่มตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก แต่ว่าข้อมูลใหม่ไม่ได้เปลี่ยนข้อสรุปของหนังสือฉบับแรกอะไรเลย[17]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Lovgren, Stefan (July 6, 2005). ""Guns, Germs and Steel": Jared Diamond on Geography as Power". National Geographic News. สืบค้นเมื่อ 2011-11-16.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Diamond, J. (March 1997). Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies. W.W. Norton & Company. ISBN 0-393-03891-2.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 McNeill, J.R. (February 2001). "The World According to Jared Diamond" (PDF). The History Teacher. 34 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 14, 2013. สืบค้นเมื่อ 2016-02-25.
  4. Ross, R., and MacGregor, W. (January 1903). "The Fight against Malaria: An Industrial Necessity for Our African Colonies". Journal of the Royal African Society. Oxford University Press. 2 (6): 149–160. JSTOR 714548.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. กำเนิดของซิฟิลิสยังไม่ชัดเจน
  6. Diamond, J. (July 1999). "How to get rich".
  7. Cohen, P. (March 21, 1998). "Geography Redux: Where You Live Is What You Are". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-07-09.
  8. "1997 Phi Beta Kappa Science Book Award". Phi Beta Kappa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2010. สืบค้นเมื่อ 2014-02-16.
  9. "The Pulitzer Prizes for 1998". Columbia University. สืบค้นเมื่อ 2014-02-15.
  10. "Prizes for Science Books previous winners and shortlists". The Royal Society.
  11. Tomlinson, Tom (May 1998). "Review:Guns, Germs and Steer: The Fates of Human Societies". Institute of Historical Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14. Given the magnitude of the task he has set himself, it is inevitable that Professor Diamond uses very broad brush-strokes to fill in his argument
  12. Diamond, Jared; McNeill, William H. (in reply) (June 26, 1997). "Guns, Germs, and Steel". The New York Review of Books. 44 (11).{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  13. Blaut, James M (2000). Eight Eurocentric Historians (2000-08-10 ed.). The Guilford Press. p. 228. ISBN 1-57230-591-6. สืบค้นเมื่อ 2008-08-05.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  14. Blaut, J.M. (1999). "Environmentalism and Eurocentrism". The Geographical Review. American Geographical Society. 89 (3): 391. doi:10.2307/216157. JSTOR 216157. สืบค้นเมื่อ 2008-07-09. full text
  15. Johnson, Matt (April 9, 2009). "My "top ten" books every student of International Relations should read". Foreign Policy. สืบค้นเมื่อ 2016-01-02.
  16. Diamond, Jared (2005). Guns, Germs and Steel: A short history of everybody for the last 13,000 years. London: Vintage. ISBN 0-09-930278-0.
  17. "Guns, germs, and Steel: the fates of human societies". Jared Diamond. สืบค้นเมื่อ 2015-09-21.

หนังสืออธิบายประวัติศาสตร์อื่น ๆ

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]