อินเบก
อินเบก (อิ่น มั่ว) | |
---|---|
尹默 | |
ที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 234 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนนางผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประจำกองทัพ (軍祭酒 จฺวินจี้จิ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 227 – ค.ศ. 234 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
ขุนนางผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. 227 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
สารถีประจำองค์รัชทายาท (太子僕 ไท่จื่อผู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 221 – ค.ศ. 223 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
บุตร | อิ่น จง |
อาชีพ | ขุนนาง, บัณฑิต |
ชื่อรอง | ซือเฉียน (思潛) |
อินเบก[a] หรือ อินเบด[b] (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 200– ค.ศ. 234) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า อิ่น มั่ว (จีน: 尹默; พินอิน: Yǐn Mò) ชื่อรอง ซือเฉียน (จีน: 思潛; พินอิน: Sīqián) เป็นบัณฑิตในลัทธิขงจื๊อและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]อินเบกเป็นชาวอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) เมืองจื่อถง (梓潼郡 จื่อถงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เวลานั้นผู้คนจำนวนมากในมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ชื่นชอบงานเขียนร่วมสมัยมากกว่าบทกวีโบราณซึ่งไม่คุ้นเคย อินเบกเดินทางไปตะวันออกไปยังมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ร่วมกับหลี่ เหริน (李仁) ซึ่งมาจากบ้านเกิดเดียวกันกับอินเบก[3] เพื่อไปเรียนบทกวีโบราณจากสุมาเต๊กโชและซงต๋ง (宋忠 ซ่ง จง; รู้จักในอีกชื่อว่า ซ่ง จ้งจื่อ 宋仲子) อินเบกกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ของลัทธิขงจื๊อ และเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในคัมภีร์จั่วจฺว้าน (左傳) อินเบกเจริญรอยตามบัณฑิตรุ่นก่อนอย่างหลิว ซิน (劉歆) ผู้ใช้จั่วจฺว้าน ในการอธิบายขยายขวามคัมภีร์ชุนชิว และเจิ้ง จ้ง (鄭眾) กับเจี่ย ขุย (賈逵) ผู้เขียนอรรถาธิบายของจั่วจฺว้าน ผลงานของอินเบกได้รับความนิยมอย่างมากจนผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ้างไปถึงต้นฉบับหลังจากได้อ่านผลงานอรรถาธิบายของอินเบกแล้ว[4]
ในปี ค.ศ. 214 หลังขุนศึกเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงผู้เป็นเจ้ามณฑล เล่าปี่ตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้ช่วยด้านการศึกษา (勸學從事 เชฺวี่ยนเสฺวฉงชื่อ) ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก หลังจากเล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนพระโอรสเป็นรัชทายาท อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสารถีประจำองค์รัชทายาท (太子僕 ไท่จื่อผู) เป็นผู้สอนคัมภีร์จั่วจฺว้านและคัมภีร์ลัทธิขงจื๊อแก่เล่าเสี้ยน เล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 และเล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ในราชสำนักจ๊กก๊ก ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กตั้งกองทัพรักษากาณ์อยู่ที่เมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมสำหรับการทัพหลายครั้งต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประจำกองทัพ (軍祭酒 จฺวินจี้จิ่ว) ภายใต้จูกัดเหลียง ในปี ค.ศ. 234 หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิต อินเบกกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กและได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู) ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าอินเบกเสียชีวิตในปีใดวันใด หลังอินเบกเสียชีวิต อิ่น จง (尹宗) ขึ้นสืบทอดตำแหน่งและขึ้นเป็นบัณฑิต (博士 ปั๋วชื่อ) ประจำราชสำนักจ๊กก๊ก[5]
คำวิจารณ์
[แก้]ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติอินเบกในจดหมายเหตุสามก๊ก ให้ความเห็นเกี่ยวกับอินเบกว่า "อินเบกเชี่ยวชาญคัมภีร์จั่วจฺว้าน แม้ว่าจะไม่มีชื่อเสียงในด้านคุณธรรม แต่ก็ยังเป็นยอดบัณฑิตในเวลานั้น"[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 63[1]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 70[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงลุกขึ้นขมีขมันออกไป เอามือเคาะลับแลเข้าเรียกขุนนาง ออกชื่อเคาเจ้งบิต๊กเซียงกีเล่าเป๋าเตียเจ้โจเตาเขงเตียวซ้องเลียวต๋งห้องกวนโหเจ้งอินเบกอินซุนเจียวจิ๋วเตียวอี้อองเมาอิเจี้ยจิมปักเปนขุนนางผู้ใหญ่ตามเสด็จไปคอยฟังอยู่ข้างนอกนั้นให้เข้าไปข้างใน") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 16, 2023.
- ↑ ("เจาจิ๋วก็ห้ามปรามเปนหลายครั้ง ขงเบ้งก็มิได้ฟัง จึงสั่งให้ กุยฮิวจี๋ บิฮุย ตันอุ๋น เฮียงทง ตันจีน เจียวอ้วน เตียวฮี เตาเขง โตบี เอียวฮอง เบงก๋อง ไลบิน อินเบด ลิจวน ฮุยสี เจาจิ๋ว กับขุนนางผู้ใหญ่ร้อยเศษ คุมทหารอยู่รักษาเมืองเสฉวน") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 16, 2023.
- ↑ (父仁,字德賢,與同縣尹默懼遊荊州,從司馬徽、宋忠等學。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (尹默字思潛,梓潼涪人也。益部多貴今文而不崇章句,默知其不博,乃遠游荊州,從司馬德操、宋仲子等受古學。皆通諸經史,又專精於左氏春秋,自劉歆條例,鄭衆、賈逵父子、陳元方、服虔注說,咸略誦述,不復桉本。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (先主定益州,領牧,以為勸學從事,及立太子,以默為僕射,以左氏傳授後主。後主踐阼,拜諫議大夫。丞相亮住漢中,請為軍祭酒。亮卒,還成都,拜太中大夫,卒。子宗傳其業,為博士。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (尹默精於左氏,雖不以德業為稱,信皆一時之學士。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).