เอ็กซ์โป 2008
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ซาราโกซา 2008 | |
---|---|
ภาพรวม | |
ระดับ BIE | เอ็กซ์โปวาระพิเศษ |
หมวดหมู่ | มหกรรมระหว่างประเทศประเภทการรับรอง |
ชื่อ | เอ็กซ์โป 2008 |
พื้นที่ | 25 เฮกตาร์ (62 เอเคอร์) |
ผู้เข้าชม | 5,650,941 |
มาสคอต | ฟลูวี |
ผู้เข้าร่วม | |
ประเทศเข้าร่วม | 104 |
หน่วยงานเข้าร่วม | 21 |
ที่จัดงาน | |
ประเทศผู้จัด | ประเทศสเปน |
เมืองเจ้าภาพ | ซาราโกซา |
พิกัด | 41°40′8.58″N 0°54′10.27″W / 41.6690500°N 0.9028528°W |
ลำดับเวลา | |
เสนอตัว | มิถุนายน 2003 |
คัดเลือก | 16 ธันวาคม ค.ศ. 2004 |
เริ่มต้น | 14 มิถุนายน ค.ศ. 2008 |
สิ้นสุด | 14 กันยายน ค.ศ. 2008 |
เอ็กซ์โปวาระพิเศษ | |
ก่อนหน้า | เอ็กซ์โป 1998 ที่ ลิสบอน |
ถัดไป | เอ็กซ์โป 2012 ที่ ยอซู |
นิทรรศการโลก | |
ก่อนหน้า | เอ็กซ์โป 2005 ที่ ไอจิ |
ถัดไป | เอ็กซ์โป 2010 ที่ เซี่ยงไฮ้ |
มหกรรมพืชสวน | |
ก่อนหน้า | พืชสวนโลก 2006 ที่ เชียงใหม่ |
ถัดไป | เอ็กซ์โป 2012 ที่ เวนโล |
เอ็กซ์โป ซาราโงซา 2008 (สเปน: Expo Zaragoza 2008) งานแสดงนิทรรศการนานาชาติที่เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 14 กันยายน 2551 ณ เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตตลอดจนการป้องกันปัญหาความขัดแย้งของภูมิภาค เรื่องการขาดแคลนทรัพยากรน้ำในอนาคต ทั้งนี้ ซาราโกซาได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองศูนย์กลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งทศวรรษ (ค.ศ. 2005 – 2015) ขององค์การสหประชาชาติด้วย
ประวัติ
[แก้]เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 องค์การนิทรรศการนานาชาติ คัดเลือกให้เมืองซาราโกซา ประเทศสเปนเป็นผู้จัดการแสดงนิทรรศการนานาชาติ ณ เมืองซาราโกซา (สเปน: Expo Zaragoza 2008) เพื่อระลึกถึงการจัดนิทรรศการร่วมกันของประเทศสเปนและประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2451 (อังกฤษ: Spanish - French Exposition Zaragoza of 1908) จัดเป็นนิทรรศการที่ได้รับการรับรองจากองค์การนิทรรศการนานาชาติ ภายใต้แนวคิดหลัก "น้ำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” (อังกฤษ: Water and Sustainable Development) โดยรัฐบาลสเปนได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลสเปน รัฐอรากอนและเมืองซาราโกซาเพื่อลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว เช่น ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (อังกฤษ: High Speed Train; AVE) ระหว่างกรุงมาดริดและบาร์เซโลนา ปรับปรุงสนามบิน ก่อสร้างอาคารแสดงนิทรรศการและที่พักอาศัย โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมจัดนิทรรศการ 102 ประเทศ และหน่วยงานเอกชนประมาณ 200 องค์กร
สัตว์สัญลักษณ์
[แก้]ฟลูวี (สเปน: Fluvi) หมายถึงหยดน้ำ[1]
การจัดพื้นที่
[แก้]เจ้าภาพได้กำหนดพื้นที่และอาคารต่าง ๆ ในการจัดงาน ได้แก่
พื้นที่และอาคารหลัก (อังกฤษ: Thematic Pavilions and Thematic Squares; สเปน: Pabellones Tematicos y Plazas Tematicas) ประกอบด้วย
อาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร
[แก้]อาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร (อังกฤษ: Bridge Pavilion; สเปน: Pabellon Puente) เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและจัดเป็นจุดสนใจของงานนี้ เป็นหนึ่งในสามทางเข้าชมงานโดยเป็นอาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร (สเปน: Rio Ebro) สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร คือ Zaha Hadid ชาวอิรัก สามารถรองรับผู้ชมได้ชั่วโมงละ 1,300 คน เป็นการเสนอภาพรวมของใช้น้ำปัจจุบันและคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และความสำคัญของน้ำ
อาคารรูปหยดน้ำ
[แก้]อาคารรูปหยดน้ำ (อังกฤษ: Water Tower; สเปน: Torre del Aqua) นำเสนอนิทรรศการน้ำเพื่อชีวิต (อังกฤษ: Water for life) ที่ชั้นล่างเสนอนิทรรศการ "ธรรมชาติของน้ำ" (อังกฤษ: Nature of water) ประกอบด้วย น้ำคืออะไร อาณาจักรน้ำ พื้นที่สีฟ้า เราคือน้ำ มหัศจรรย์แห่งน้ำ และวัฏจักรของน้ ำ (อังกฤษ: Water is; Water Planet; Blue landscape; We are water; The magic of water and Water cycle) ทั้งนี้ ในพื้นที่แสดงนิทรรศการจัดแสดงประติมากรรม "แหล่งกำเนิดฝน" (อังกฤษ: Source of Rain) อาคารนี้ยังเปลี่ยนสีได้ตามแนวคิดของกลางวันและกลางคืน ซึ่งได้ก่อสร้างเป็นชั้น ๆ เพื่อการรับแสงและเป็นประกายของแสง ชั้นบนสุดเป็นพื้นที่บริการเครื่องดื่มขนาด 600 ตารางเมตร
อาคารแสดงนิทรรศการสัตว์น้ำจืด
[แก้]อาคารแสดงนิทรรศการสัตว์น้ำจืด (อังกฤษ: Freshwater Aquarium; สเปน: Acuario Fluvial) เป็นอาคารขนาด 7,850 ตารางเมตร จัดแสดงพันธุ์ปลาในถังกระจกเลี้ยงปลาขนาดเกือบสามล้านลิตร โดยมีการจำลองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำห้าสาย คือ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำโขง แม่น้ำอเมซอน แม่น้ำดาร์ลิ่ง-เมอเรย์ และแม่น้ำเอโบร เพื่อแสดงพื้นที่ราบลุ่ม นกในบริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ฯลฯ จัดเป็นจุดสนใจที่สำคัญของงานอีกแห่งหนึ่ง
น้ำและเมือง
[แก้]น้ำและเมือง (อังกฤษ: Water and cities; สเปน: Ciudadas del Aqua) อาคารแสดงความสัมพันธ์ของน้ำกับเมือง ชุมชน และเสนอข้อมูลของเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในโลกและความสัมพันธ์กับการใช้น้ำ
น้ำกับความแห้งแล้ง
[แก้]น้ำกับความแห้งแล้ง (อังกฤษ: Water and Thirst; สเปน: Sed) อาคารรูปผลึกเกลือขนาดใหญ่ สูง 12 เมตร แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและเทคโนโลยีในการต่อสู้กับการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผู้ชมสามารถมองเห็นวัฏจักรของน้ำทั้งหมดได้ภายในอาคารนี้ ตั้งแต่เป็นเมฆ ฝนและน้ำ มีการเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ใช้ในเมืองและปริมาณน้ำในทะเลทราย เพื่อเรียนรู้ถึงการอพยพเพื่อค้นหาแหล่งน้ำ
น้ำกับพลังงาน
[แก้]น้ำกับพลังงาน (อังกฤษ: Water and Energy; สเปน: Oikos) อาคารในจินตนาการขนาด 1.231 ตารางเมตร ออกแบบโดย Roland Olbeter และ Domingo Guinea แสดงให้เห็นบ้านในอนาคตของมนุษย์ซึ่งก่อสร้างให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน เป็นการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
การแบ่งปันน้ำ
[แก้]การแบ่งปันน้ำ (อังกฤษ: Share Water; สเปน: Aqua Comparida) อาคารขนาด 1,240 ตารางเมตร แสดงให้เห็นถึงการสร้างโลกใหม่โดยการเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ คือ Victor Pochat และ Carlos Fernandez Jauregui ประกอบด้วย "ความยุ่งเหยิงของนโยบายในปัจจุบัน" (อังกฤษ: the chaos of division, current policy) ผู้ชมจะได้รับทราบข้อมูลในมุมมองต่าง ๆ และจบด้วยข้อมูลที่ถูกต้องในการบริหารจัดการน้ำ
น้ำท่วม
[แก้]น้ำท่วม (อังกฤษ: Extreme Water; สเปน: Aqua Extrema) อาคารสูง 22 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 36 เมตร ภายใต้การเสนอแนวคิดจากศาสตราจารย์ Javier Martin เพื่อเสนอข้อมูลผ่านการเดินทางด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น คลื่นยักษ์ พายุเฮอริเคน ผลกระทบของอากาศเย็นในบ่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหันตภัยต่าง ๆ โดยเทคนิค Imax cinema เพื่อสร้างประสบการณ์ในการสัมผัสสถานการณ์เหมือนจริง (ข้อมูลคลื่นยักษ์ คือ เหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2545)
บ้านดิน
[แก้]บ้านดิน (สเปน: El Faro) เป็นนิทรรศการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของประชาชน หรือ The Beacon และเป็นครั้งแรกที่องค์กรเอกชน (อังกฤษ: Non Government Agencies; NGOs) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดเนื้อหาของนิทรรศการ ก่อสร้างในรูปแบบบ้านดิน เสนอแนวคิดการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับน้ำ ได้แก่ สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเข้าถึงระบบประปาและสุขาภิบาลน้ำสะอาด เป็นต้น โดยจัดเป็นนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ รวม 8 แนวคิดเพื่อแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการเสนอข้อมูลถึงสังคมโดยรวม
นิทรรศการน่าสนใจ
[แก้]ศาลาสเปน
[แก้]ศาลาสเปน (สเปน: Pabellon de Espana) รัฐบาลสเปนในฐานะประเทศเจ้าภาพได้กำหนดแนวคิดในการเสนอนิทรรศการ คือ วิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ (อังกฤษ: Science and creativity) โดยมีสถาปนิกจากรัฐเนวารา (สเปน: Navarra) ชื่อ Patxi Mangado เป็นผู้ออกแบบ ด้วยความร่วมมือจาก (อังกฤษ: The National Centre for Renewable Energies of Spain; CENRE) เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาคารนี้จึงเป็นอาคารประหยัดพลังงานที่มีการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ เนื้อหาที่เสนอภายในศาลาสเปนประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์การ์ตูนในสถานการณ์จำลอง เรื่องน้ำและเด็ก (อังกฤษ: Children of Water) นิทรรศการน้ำกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Water on Earth) โดยการฉายวีดิทัศน์ประกอบการใช้เทคนิค Ghost Effect การใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในสเปน (Spain and Water) การแสดงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการและการศึกษาของสเปนที่เกี่ยวข้อง (Understand to Survive: the Climate)และการออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Zaragoza Kioto exhibition: architectures for a sustainable planet)
ศาลาเตอร์กี
[แก้]ศาลาเตอร์กี (สเปน: Pabellon de Turquia) แสดงวัฒนธรรมและวิธีการจัดการน้ำ ผ่านแหล่งน้ำต่าง ๆ ในประเทศเตอร์กี (อังกฤษ: Water source of life) โดยแสดงวิธีการใช้น้ำในชีวิตประจำวันผ่านศิลปะที่ตกแต่งก็อกน้ำสาธารณะ (อังกฤษ: Fountains for life) แสดงแสง สีและเสียง ผ่านชีวิตและวัฒนธรรมเกี่ยวกับน้ำ (อังกฤษ: Water and life for all) และเสนอความสุขจากน้ำ (อังกฤษ: The pleasures of water)
ศาลาเยอรมัน
[แก้]ศาลาเยอรมัน (สเปน: Pabellon de Alemania) เป็นการจำลองการควบคุมวัฏจักรของน้ำทั้งในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ การผลิตน้ำบริสุทธิ์ และการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้การนั่งเรือชมแหล่งกำเนิดน้ำใต้ดิน และเล่าเรื่องระหว่างการล่องแม่น้ำโคโลญญ์ อังกฤษ: Cologne River) ในลักษณะสถานที่จำลอง
ศาลาญี่ปุ่น
[แก้]ศาลาญี่ปุ่น (สเปน: Pabellon de Japon) จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาและวัฒนธรรมการใช้น้ำกับเทคโนโลยีโดยผนวกแนวคิดจากการจัดงานแสดงนิทรรศการโลกที่เมืองไอจิ ประเทศญี่ป่น เมื่อปี ค.ศ.2005 โดยใช้สัตว์สัญลักษณ์ (อังกฤษ: Mascot) ชื่อ Maruzo มาดำเนินเรื่องร่วมกับสัตว์สัญลักษณ์ของงาน ชื่อ ฟลูวี (สเปน: Fluvi) และเสนอภาพวีดิทัศน์ในห้องโถงใหญ่แสดงวีถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับการใช้น้ำ เล่าผ่านตัวการ์ตูนญี่ปุ่น (เต่า)
ศาลาเกาหลี
[แก้]ศาลาเกาหลี (สเปน: Pabellon de Corea) เสนอแนวคิด "น้ำเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์และความเป็นจริง" (อังกฤษ: Water as a symbol of history and reality) ผ่านมุมมองเกี่ยวกับน้ำของคนเกาหลี