ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์ยาคุบ-ฮาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมอร์อูเซอร์เร ยาคุบ-ฮาร์ (สามารถสะกดได้อีกว่า ยาคุบเฮอร์ หรือที่รู้จักกันในพระนาม ยาก-บาอัล[1]) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณในช่วงศตวรรษที่ 17 หรือ 16 ก่อนคริสตกาล เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์ในช่วงสมัยระหว่างกลางที่สองที่เกิดศูนย์กลางทางการปกครองมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุรัชสมัยของพระองค์ได้อย่างแม่นยำ และยังไม่ทราบราชวงศ์ที่พระองค์ของปกครองอยู่ยังแน่ชัด

ตำแหน่งตามลำดับเวลา

[แก้]
Scarab with the cartouche of Yaqub-Har in the British Museum (EA 40741).

ยังเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวราชวงศ์ที่พระองค์ควรจะอยู่ โดยพระองค์ถูกมองว่าเป็นทั้งฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสี่, ผู้ปกครองชาวฮิกซอสในช่วงต้นของราชวงศ์ที่สิบห้า หรือข้าราชบริพารของผู้ปกครองฮิกซอส พระองค์ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยตราประทับสคารับจำนวนไม่น้อยกว่า 27 ชิ้น โดยสามชิ้นมาจากคานาอัน, สี่ชิ้นจากอียิปต์, หนึ่งชิ้นจากนิวเบีย และอีก 19 ชิ้นที่เหลือไม่ทราบที่มา[2] การกระจายในวงกว้างของตราประทับสคารับเหล่านี้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ คานาอัน และนิวเบียในช่วงสมัยระหว่างกลางที่สอง[2]

ราชวงศ์ที่สิบสี่

[แก้]

ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์เป็นราชวงศ์ที่มีเชื้อสายจากคานาอัน ซึ่งปกครองบริเวณพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฝั่งตะวันออกก่อนหน้าที่ชาวฮิกซอสจะเข้ามาในดินแดนอียิปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอยคุปต์วิทยาชาวเดนมาร์ก คิม ไรโฮลท์ได้เสนอว่า พระองค์เป็นฟาโรห์ในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบสี่ และเป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ทราบข้อมูลของพระองค์จากหลักฐานร่วมสมัย[3] โดยไรโฮลท์ชี้ไปที่ตราประทับสคารับของพระองค์ ซึ่งถูกค้นพบระหว่างการขุดค้นในเมืองเทล ชิกโมนา ในประเทศอิสราเอลปัจจุบัน การคำนวณทางโบราณคดีของตราประทับดังกล่าวมีอายุย้อนไปถึงสมัย MB IIB (ยุคสำริดตอนกลางเมื่อ 1750 ปีก่อนคริสตกาล-1650 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งหมายความว่า พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพมาก่อนหน้าราชวงศ์ที่สิบห้า[4][5] และเนื่องจากพระนาม "ยาคุบ-ฮาร์" อาจจะมีเกี่ยวข้องกับภาษากลุ่มเซมิติกตะวันตก ซึ่งแปลว่า "ทรงได้รับการคุ้มครองโดยเทพฮาร์" พระองค์จึงถือว่าทรงเป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่[6] ข้อโต้แย้งของไรโฮลท์มีพื้นฐานอยู่บนข้อสังเกตที่ว่าในขณะที่ผู้ปกครองชาวฮิกซอสในช่วงแรก ๆ ของราชวงศ์ที่สิบห้า เช่น ซาคิร์-ฮาร์ ทรงใช้ตำแหน่ง เฮคา-คาวาเซต แต่ผู้ปกครองชาวฮิกซอสในเวลาต่อมาได้ทรงนำตำแหน่งแบบดั้งเดิมของอียิปต์มาใช้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์คยาน ซึ่งทรงปกครองในตำแหน่ง เฮคา-คาวาเซต ในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ แต่ต่อมาได้ทรงนำเอาพระนามนำหน้าของอียิปต์มาใช้ คือพระนาม เซอูเซอร์เอนเร ต่อมาฟาโรห์ชาวฮิกซอส เช่น ฟาโรห์อะโพฟิสได้ทรงยกเลิกตำแหน่ง เฮคา-คาวาเซต และใช้พระนามนำหน้าตามธรรมเนียมของอียิปต์ไว้แทน เช่นเดียวกับผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่ จากนั้นไรโฮลท์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าพระองค์เองก็ใช้พระนามนำหน้าพระนามว่า เมอร์อูเซอร์เร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพระองค์อาจจะทรงปกครองในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบห้า หรืออาจจะทรงเป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่ที่มีเชื้อสายชาวเอเชีย เนื่องจากในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบห้านั้นทราบกันดีว่าไม่ปรากฏพระนามของผู้ปกครองที่มีพระนามว่า เมอร์อูเซอร์เร ไรโฮลท์จึงสรุปว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่[5]

ราชวงศ์ที่สิบห้า

[แก้]

ในทางกลับกัน ดาฟนา เบน-ทอร์และซูซาน อัลเลนสังเกตว่าตราประทับสคารับของพระองค์มีลักษณะทางรูปแบบที่แทบจะเหมือนกันกับของผู้ปกครองชาวฮิกซฮสพระนามว่า คยาน[7]ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่ปรากฏหลักฐานยืนยันตัวตนอย่างดี สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของฟาโรห์คยานแห่งราชวงศ์ที่สิบห้า หรือจะทรงเป็นผู้ปกครองของราชวงศ์ท้องถิ่นภายใต้การปกครองของฟาโรห์ชาวฮิกซอส โดยทรงปกครองในบริเวณส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอียิปต์ภายใต้อำนาจของฟาโรห์คยาน ดังที่เบน-ทอร์เขียนไว้ว่า "หลักฐานที่สนับสนุนว่าฟาโรห์ยาคุบ-ฮาร์มาจากราชวงศ์ที่สิบห้า นั้นมาจากรูปแบบที่คล้ายคลึงกันระหว่างตราประทับสคารับของพระองค์กับตราประทับของฟาโรห์คยาน"[8] นอกจากนี้ รูปแบบของสัญลักษณ์ wsr ที่ใช้สำหรับพระนามนำหน้าของผู้ปกครอง "เป็นการพิสูจน์ถึงความใกล้ชิดตามลำดับเวลา (ระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์ยาคุบ-ฮาร์และฟาโรห์คยาน) และปฏิเสธข้อสันนิษฐานของไรโฮลท์ที่ระบุว่าพระองค์เป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่ และฟาโรห์คยานมาจากราชวงศ์ที่สิบห้า"[8]

การคาดเดาจากภายนอก

[แก้]

ในภาพยนตร์ The Exodus Decoded ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ซิมชา ยาโคโบวิซี เสนอว่า พระองค์เป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลนามว่า ยาโคบ โดยข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาจากแหวนตราที่พบในเมืองอวาริส เมืองหลวงของชาวฮิกซอส ซึ่งอ่านว่า "ยาคอฟ/ยาคุบ" (จากชื่อ ยาคุบ-เฮอร์) คล้ายกับชื่อภาษาฮีบรูของผู้เฒ่าในพระคัมภีร์ไบเบิล ยาโคบ (ยาคอฟ) ยาโคโบวิซีไม่สนใจต่อความจริงที่ว่า ยาคุบ-ฮาร์ เป็นฟาโรห์จากช่วงสมัยระหว่างกลางที่สองที่ปรากฏหลักฐานยืนยันอย่างดี และยาโคฟและชื่อในรูปต่างๆ เป็นชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มภาษาเซมิติกทั่วไปในสมัยนั้น นอกจากนี้ ยาโคโบวิซีไม่ได้ให้คำอธิบายว่าทำไมโยเซฟถึงมีแหวนตราที่มีชื่อบิดาของเขาคือ ยาโคบ[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Iorwerth Eiddon Stephen Edwards, บ.ก. (1970). Cambridge Ancient History. C. J. Gadd, N. G. L. Hammond, E. Sollberger. Cambridge: Cambridge University Press. p. 59. ISBN 0-521-08230-7.
  2. 2.0 2.1 Darrell D. Baker: The Encyclopedia of the Pharaohs: Volume I - Predynastic to the Twentieth Dynasty 3300–1069 BC, Stacey International, ISBN 978-1-905299-37-9, 2008, p. 503-504
  3. K.S.B. Ryholt: The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c.1800–1550 BC, Carsten Niebuhr Institute Publications, vol. 20. Copenhagen: Museum Tusculanum Press, 1997
  4. A. Kempinski: Syrien und Palästina (Kanaan) in der letzten Phase der Mittelbronze IIB-Zeit (1650-1570 v. Chr.), Wiesbaden: Harrassowitz, 1983
  5. 5.0 5.1 K. S. B. Ryholt: The Date of Kings Sheshi and Ya'qub-Har and the Rise of the Fourteenth Dynasty, in: "The Second Intermediate Period: Current Research, Future Prospects", edited by M. Marée, Orientalia Lovaniensia Analecta 192, Leuven, Peeters, 2010, pp. 109–126.
  6. See Ryholt, The Political Situation [...], pp.99-100
  7. Daphna Ben-Tor, Sequence and Chronology of Second Intermediate Period Royal-Name Scarabs, based on excavated series from Egypt and the Levant in Marée, Marcel (Hrsg.): The Second Intermediate Period (Thirteenth - Seventeenth Dynasties). Current Research, Future Projects. Leuven-Paris-Walpole 2010, (Orientalia Lovaniensia Analecta 192) pp.96-97
  8. 8.0 8.1 Ben Tor in Marée, 2010, p.97
  9. Higgaion » The Exodus Decoded: An extended review, part 4